รัฐบาล เสริมงบ สปสช. เพิ่ม สิทธิประโยชน์ ลดปัจจัยเสี่ยง ด้านสุขภาพ

รองโฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาล เสริมงบ ให้ สปสช. บริหารจัดการ เพิ่ม สิทธิประโยชน์ ให้คนไทย หวัง ลดปัจจัยเสี่ยง ด้านสุขภาพ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนงานและจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องกับเพศภาวะ เหมาะสมตามความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของประชากร ทั้งเรื่องของเพศ วัย และสภาพของบุคคล โดยยึดหลักการสำคัญ ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความต้องการ และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกัน ของหญิงและชาย ซึ่งในงานการสร้างเสริมสุขภาพ ปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เหมาะกับความจำเป็นของแต่ละช่วงวัย และกลุ่มประชากรหญิง ซึ่งต้องการได้รับการดูแลที่แตกต่างจากผู้ชาย มีกรอบงบประมาณที่ใช้กว่า 19,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้

หมวดหมู่สิทธิประโยชน์ “ตามช่วงวัย” มีดังนี้

1.สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด สามารถขอรับคำปรึกษา การเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตร ได้ที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ จากเดิมการดูแลการตั้งครรภ์ในสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง กำหนดไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง ในปีนี้มีการขยายไปเป็น 8 ครั้ง หากมีความจำเป็นหน่วยบริการจะให้การดูแลมากกว่า 8 ครั้งได้

2.กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี เมื่อทารกคลอดออกมา ก็ได้รับการเจาะเลือดที่ส้นเท้า เพื่อส่งตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย และในปีนี้จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เมตาบอลิก 40 โรค ด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry

3.กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี สำหรับผู้หญิงเมื่อเริ่มมีประจำเดือน มีสิทธิประโยชน์ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ไม่มีภาวะซีด ก็มีสิทธิประโยชน์ยาเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกให้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนที่แต่งงานมีครอบครัวและวางแผนจะมีบุตร สำหรับกลุ่มวัยรุ่นหรือที่บรรลุนิติภาวะแต่งงานแล้วแต่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถขอคำปรึกษาได้

4.กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี ในปี 2565 มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ 1.การตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ในคนที่เป็นมะเร็งเต้านม และติดตามญาติสายตรงที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มารับการตรวจคัดกรองและให้การดูแลต่อเนื่อง 2.การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test หรือแป็บสเมียร์ (Pap smear) 3.การตรวจคัดกรองโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) ซึ่งกรณีหลังนี้ให้ในทุกกลุ่มวัยไม่ใช่เฉพาะวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

5.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สิทธิประโยชน์จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรองความดัน-เบาหวาน-มะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีอายุ 60-70 ปี เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ สปสช. ยังมีแนวทางการให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน และถุงยางอนามัย ซึ่งจะทำให้ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ตามสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยในปีนี้ สปสช. ได้เพิ่มจุดให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน คือ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ คลินิกการพยาบาลฯ ร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชน รวมกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนถุงยางอนามัย จะให้บริการแก่คนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาลอายุ 15 ปีขึ้นไป รับบริการได้ครั้งละ 10 ชิ้นต่อสัปดาห์ รอบการจ่าย 7 วัน รับได้ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนถุงยางต่อคนต่อปี โดยใช้สมาร์ทโฟน Add Line สปสช. แล้วสแกน QR code ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแจกถุงยางอนามัย เพื่อรับถุงยางอนามัยตามไซส์ มีให้เลือก 4 ไซส์ คือ 49 มม. 52 มม. 54 มม. และ 56 มม. ถุงยางอนามัยจะเริ่มให้บริการในช่วงเดือน เม.ย. 65 เป็นต้นไป

คลิปแนะนำอีจัน
“แจ็ก แปปโฮ” แจงดราม่า! ย่ำบนโต๊ะอาหาร