รู้วิธีปฐมพยาบาล เมื่อสำลักอาหารติดคอ ลดเสี่ยงเสียชีวิต

เตรียมพร้อมรับมือเมื่อ สำลักอาหารติดคอ รู้วิธีปฐมพยาบาล ลดเสี่ยงเสียชีวิต

การสำลักหรืออาหารติดคอ ดูนั้นเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต่างเผชิญ บางคนอาจโชคดีที่ไม่รุนแรง แต่เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเพราะก็มีไม่น้อย ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้ ดังนั้นเรามารู้เลยว่าจะเกิดขึ้นขณะไหนเวลาไหน มาเตรียมพร้อมกันดีกว่า

สิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นทางเดินหายใจ มักทำให้หายใจไม่ออกเฉียบพลัน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาล และนำส่งโรงพยาบาลอย่างถูกต้องและทันท่วงที ภาวะนี้มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น ขณะที่ ในผู้ใหญ่สามารถเกิดปัญหาสำลักได้เช่นเดียวกัน ขณะทำกิจกรรมหลายๆอย่างในขณะกินอาหาร เช่น พูด, หัวเราะ ก็เสี่ยงแล้ว

ระดับความรุนแรงของการอุดกั้นทางเดินหายใจ

การอุดกลั้นทางเดินหายใจบางส่วน (Partial obstruction)

ถ้ายังพอหายใจเองได้ยังพอพูดมีเสียง หายใจมีเสียงหวีด มักบอกได้ว่ามีสิ่งอุดกลั้นทางเดินหายใจ และยังสามารถไอสิ่งอุดกลั้นออกมาเองได้

การอุดกั้นทางเดินหายใจแบบรุนแรง (Complete obstruction)

อาการอาจใช้มือกุมคอ หายใจลำบาก หน้าเขียว ปากเขียว พูดไม่มีเสียง อาจหมดสติ ไม่หายใจและเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

วิธีปฐมพยาบาล

1.หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นทางเดินหายใจบางส่วน ให้พยายามไอออกมาเอง โดยเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

2.หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นทางเดินหายใจแบบรุนแรง ให้ถามผู้ป่วยว่าสำลักหรือไม่ หากพยายามพูดแต่ไม่มีเสียง ควรปฏิบัติตามนี้

  • ยืนด้านหลังผู้เกิดเหตุ วางเท้าตรงระหว่างเท้าทั้งสองข้างของผู้ป่วย

  • กำมือ ประสานลงที่ท้องผู้ป่วย ตรงตำแหน่ง เหนือสะดือ ใต้ลิ้นปี่

  • ออกแรงกระทุ้ง ดันขึ้นด้านบน อาจให้ผู้เกิดเหตุก้มตัวเล็กน้อยเพื่อง่ายต่อการช่วยเหลือ

  • ทำรอบละ 5 ครั้ง ทำต่อเนื่องจนกว่าจะหลุดออกมา

  • หากผู้ป่วยหมดสติ ให้โทร 1669 และเริ่มทำ CPR

กรณีอยู่ตามลำพัง ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองดังนี้

  • กำหมัดข้างหนึ่งวางตรงเหนือสะดือ ใต้ลิ้นปี่

  • ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้วก้มหัวให้มือพาดขอบแข็งๆ เช่น พนักเก้าอี้ ขอบโต๊ะ เป็นต้น

  • ก้มตัวลงแรงๆ เพื่อกระแทกหมัดอัดเข้าท้องในลักษณะดันขึ้นข้างบน ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมหลุด

กรณีเด็กเล็ก หรือ น้อยกว่า 1 ปี

  1. กรณีไม่หมดสติ ตรวจดูอาการทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น ร้องไม่มีเสียง ไอไม่ออก

  2. จับคว่ำตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย กดหน้าอก 5 ครั้ง

  3. ใช้ฝ่ามือรองเพื่อซัพพอร์ตคอเด็กขณะตบหลัง

  4. ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา

  5. กรณีหมดสติ ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ ขอความช่วยเหลือ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ทำการปฏิบัติการกู้ชีพจนความช่วยเหลือมาถึง

กรณีเด็กโต

  1. กรณีไม่หมดสติ ถามว่าพูดได้ไหม ให้ลงมือช่วยเมื่อเห็นว่า พูดไม่มีเสียง

  2. รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ้นปี (Abdominal Thrust)

  3. ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา

  4. กรณีหมดสติ ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ และขอความช่วยเหลือ

    1. ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา

    2. ทำการปฏิบัติการชีพจนความช่วยเหลือมาถึง

ปัญหาที่เกิดตามหลังการสำลัก

1. ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งทางเดินหายใจมีขนาดเล็กอยู่แล้ว การอุดกั้นแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

2. เกิดการอุดกั้นของหลอดลมส่วนปลาย ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ ปอดพอง หรือหอบหืดได้

3. เกิดการอุดกั้นการระบายของเสมหะในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาการอักเสบติดเชื้อตามมาเช่น ปอดอักเสบ , หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

4. สิ่งแปลกปลอมบางชนิดเช่น ถ่านนาฬิกา, ถ่านเครื่องคิดเลข เมื่อตกค้างในทางเดินหายใจ จะทำปฏิกิริยากับเสมหะหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ เกิดเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้น รั่วซึมออกจากตัวถ่าน ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อข้างเคียงอย่างรุนแรง จนบางครั้งเกิดการทะลุของอวัยวะภายใน เข้าสู่ช่องอกเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คลิปอีจันแนะนำ
ทนายตั้มเอาจริง! ฟ้องกลับทุกคดี พิษหวย 30 ล้าน