อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ โรคตุ่มน้ำพองใส อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนโควิด

โรคตุ่มน้ำพองใส เกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ รักษาให้หายได้ ปัจจุบันในไทยยังไม่พบผู้มีอาการ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ในโซเชียล เรื่อง การเกิด โรคตุ่มน้ำพองใส หลังได้รับการ ฉีดวัคซีนโควิด 19 นั้น ขอเรียนว่า “โรคตุ่มน้ำพองใส” เป็นกลุ่มโรคผิวหนังที่พบไม่บ่อย แบ่งออกเป็น 2 โรค คือ โรคเพมฟิกัส มีอุบัติการณ์ 0.5 – 3.2 รายต่อประชากรแสนคน และ โรคเพมฟิกอยด์ อุบัติการณ์ 2 – 22 รายต่อประชากรล้านคน ทั้งสองโรคมีอาการคล้ายคลึงกันคือมี ตุ่มน้ำพอง เกิดขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุ เมื่อตุ่มน้ำพองแตกจะกลายเป็นแผลถลอกตามร่างกาย อาการของโรคจะเป็นเรื้อรัง มีช่วงที่โรคกำเริบและโรคสงบได้

ทั้งนี้ การเกิด โรคตุ่มน้ำพองใส มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากผลข้างเคียงหลังได้รับ การฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งจะพบได้น้อย ในต่างประเทศเคยมีรายงานข้อมูลอาการข้างเคียงทางผิวหนัง ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึง เดือนเมษายน 2564 หลังได้รับ วัคซีนโควิด 19 พบว่าการเกิด ตุ่มน้ำพองใส หลังจาก ฉีดวัคซีนโควิด -19 ชนิด mRNA มี 12 ราย โดย 7 ราย หายในระยะเวลาเฉลี่ย 3 สัปดาห์ และอีก 5 ราย มีการดำเนินโรคต่อเนื่องต้องเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยเป็น โรคตุ่มน้ำพองใส หลัง ฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเว็กเตอร์ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอที่จะสามารถระบุได้ว่า การเกิด โรคตุ่มน้ำพองใส หลังฉีดวัคซีน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมกันหรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากวัคซีน โดยอาจเป็นไปได้ว่าการออกฤทธิ์ของวัคซีน ที่กระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อไวรัส เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการเกิดโรคผิวหนังหลายชนิด หรือโปรตีนบางอย่างที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนอาจเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเองโดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยทางพันธุกรรม ในการเกิดโรคอยู่ก่อนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การได้รับวัคซีนโควิด 19 นั้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย

การรักษา โรคตุ่มน้ำพองใส ควรรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และเพื่อช่วยให้การหายของโรคเร็วขึ้น หากสงสัยว่าเป็น โรคตุ่มน้ำพองใส แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง และค่ารักษาพยาบาลสามารถครอบคลุมค่ารักษาในระบบสาธารณสุข ทั้งประกันสังคม และ 30 บาทรักษาทุกโรค

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับ โรคตุ่มน้ำพองใส สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ https://www.iod.go.th/category/info

คลิปอีจันแนะนำ
จากปังเป็นพัง! #อุทาหรณ์โบท็อกซ์