เปรียบเทียบ ล้างมือ vs สวมแมสก์ แบบไหนป้องกันไวรัสได้ดีกว่ากัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปรียบเทียบงานวิจัยในการป้องกันไวรัส ระหว่าง ล้างมือ vs สวมแมสก์ แบบไหนป้องกันไวรัสได้ดีกว่ากัน

วันนี้ (9 มี.ค.66) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับผลของ “การล้างมือ” เปรียบเทียบกับ “การสวมหน้ากากอนามัย” เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่แพร่ระหว่างคนสู่คนทางระบบทางเดินหายใจ ว่า…

เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน และยาต้านไวรัสในการรักษา ดังนั้นการป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน เช่น “กินร้อน-ช้อนกลาง-สวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือ(ด้วยสบู่)-ดื่มน้ำสะอาด(ต้มสุก)-ป้องกันสัตว์หรือยุงกัด” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไวรัสแต่ละชนิดแพร่ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือระหว่างคนสู่คน

จากงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์หลายฉบับ แสดงให้เห็นว่าการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลล้างมือช่วยลดการติดเชื้อไวรัสทางระบบเดินหายใจลงได้ถึง 14%-21% แต่ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ มีหลักฐานบ่งชี้ว่าช่วยลดการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสติดต่อทางระบบเดินหายใจประมาณ 11%

ตรงข้ามจากงานวิจัยส่วนหนึ่งกลับไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มผู้ที่สวมหน้ากากอนามัยในชุมชนเปรียบเทียบกับกลุ่มไม่สวมหน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายงานวิจัยที่ยังคงแนะนำว่าหน้ากากอนามัยยังสามารถลดการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ SARS-CoV-2

ดังนั้นเพื่อจะสรุปให้ชัดว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัยมีประโยชน์หรือไม่ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส คงต้องรอประเมินจากผลงานวิจัยที่ทยอยลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อีกระยะหนึ่ง

ด้วยความห่วงใยการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ ยังคงเป็นแนวทางที่ดีนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
ใครเล่นระนาด?