สปสช. ชี้ บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เคลียร์ชัด บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม. ดีเดย์ 1 พ.ย. 63

27 ต.ค. 63 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. แถลงข่าว ในหัวข้อ "ไขข้อสงสัย ก่อนดีเดย์ 1 พฤศจิกายน รักษาปฐมภูมิทุกที่" ในเครือข่ายหน่วยบริการ บัตรทอง พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ร่วมชี้แจง

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 และ 1 ม.ค. 2564 ระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง จะเปลี่ยนแปลงไป ใน 4 ด้านสำคัญ คือ

1. รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเดิมประชาชน 1 คนจะผูกติดหน่วยบริการ 1 แห่งแต่จากนี้สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในเขตที่กำหนด

2.ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 หรือกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป

3.มะเร็ง ส่งตรงถึงโรงพยาบาลเฉพาะด้านที่ไม่แออัด จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 หากผู้ป่วยใกล้ที่สถานบริการไหนสามารถรักษา หรือเข้าไปทำการฉายรังสีรักษาได้ โดยจะมีศูนย์ประสานงานให้

4. ย้ายหน่วยบริการปุ๊บ รักษาที่ใหม่ได้ทันที จากเดิมที่เมื่อมีการย้ายโรงพยาบาล ต้องรออีก 15 วัน แต่หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องรอ 15 วันอีกแล้ว



นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. เผยว่า ประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องไปลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ และต้องไปรักษากับหน่วยบริการปฐมภูมินั้นๆ เมื่อมีความเจ็บป่วยที่เกินศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ ทางหน่วยฯ ก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการยังหน่วยที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งนี่คือระบบที่เรามีอยู่แล้ว

สปสช. ชี้ บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม.
สำหรับการนำร่องรักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ เราพบว่ามีบางคลินิกที่มีปัญหา ทำให้เราต้องยกเลิกคลินิกที่ผิดสัญญาไป เราจึงอาศัยช่วงจังหวะเดียวกันในการที่จะใช้นโยบายใหม่เข้ามาทดลองในกรุงเทพมหานครก่อน โดยวันที่ 1 พ.ย. 2563 ก็จะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนเรื่องการย้ายหน่วยบริการ จากเดิมที่เมื่อมีการย้ายโรงพยาบาล ต้องรออีก 15 วัน ซึ่งในช่วง 15 วันที่กำลังรอสิทธินั้นเป็นปัญหา ช่วง 15 วันถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาพอดี ทางโรงพยาบาลที่อยู่ปลายทางที่จะรับมา ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะให้บริการท่านได้ เพราะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าท่านยังไม่ได้ย้ายมาลงทะเบียนที่หน่วยบริการปลายทาง หรือก็เรียกท่านกลับไปเอาใบส่งตัวมาอีก เราจึงปรับกติกาใหม่ คือ ถ้าท่านลงทะเบียนก็จะได้รับสิทธิทันที ขณะที่ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มี 50 เขต ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่สามารถรับบริการสาธารณสุขได้ทั้งหมด 136 แห่ง โดยเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข ขึ้นอยู่กับสำนักอนามันกรุมเทพมหานคร 69 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ 31 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 26 แห่ง
สปสช. ชี้ บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม.
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้ทางกรมการแพทย์ มีสถานพยาบาลรักษาโรคมะเร็งในระดับภูมิภาค 7 แห่ง รวมถึงได้มีการประสานงานกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง
สปสช. ชี้ บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม.
ทั้งนี้ในส่วนของกรมการแพทย์ พยายามที่จะลดในเรื่องของเมื่อผู้ป่วยไปใช้บริการไม่ต้องรอคิวนานในการฉายรังสีรักษาเหมือนในอดีตอีก นอกจากนี้ยังมีระบบการลงทะเบียนมะเร็ง ทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลไหนมีเครื่องฉายรังสีรักษา หรือมีเตียงพร้อมในการให้บริการ ซึ่งก็จะมีข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับบริการใกล้บ้านได้ คาดว่าจะเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยมะเร็งทั้งประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 และไม่ต้องขอใบส่งตัวให้ยุ่งยาก นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยใน ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เบื้องต้นได้นำร่องในหน่วยบริการเขตสุขภาพที่ 9 หรือ นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ 1.นครราชสีมา 2.ชัยภูมิ 3.บุรีรัมย์ 4.สุรินทร์
สปสช. ชี้ บัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน กทม.
ซึ่งปกติผู้ป่วยที่จะต้องนอนโรงพยาบาลจะมีทั้งระบบที่หมอนัดมานอน และระบบที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินต่างๆ จากเดิมว่าจะรักษาที่โรงพยาบาลได้ ต้องกลับมาคลินิกมาขอใบส่งตัวและถึงไปโรงพยาบาล ทำให้เสียเวลา ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป ผู้ป่วยในก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป