
อย่าหาทำ กินแบบรีบๆ เสี่ยงโรค!
วันนี้(19 ก.ค.68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์เตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมกับการใช้ชีวิตเร่งรีบ โดยเฉพาะ การชอบกินเร็ว ซึ่งต้องระวังเพราะอาจมีผลต่อสุขภาพ ทำให้อ้วนง่ายและอาจเป็นไขมันพอกตับไม่รู้ตัว โดยหมอเผยว่า…

จริงๆ นิสัยกินเร็ว ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็เป็นสาเหตุของหลายๆโรคได้ เดี๋ยววันนี้มาเล่าให้ฟังว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเราต้องป้องกันยังไงบ้าง
อย่างแรกเลยคือทำให้อ้วนง่ายขึ้น แล้วกินเร็วทำไมถึงอ้วนง่าย?
ถ้าลองสังเกตดู คนที่กินเร็วส่วนใหญ่มักจะกินเยอะโดยไม่รู้ตัว เพราะเหตุผล ดังนี้


•สมองตามไม่ทัน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที กว่าที่สมองจะรับรู้ว่าอิ่ม ถ้าเรากินเร็วเกินไป สมองยังไม่ได้สั่งให้หยุด แต่บางทีเราก็กินไปเยอะแล้ว
•ฮอร์โมนความอิ่มรวน ในร่างกายเรามีฮอร์โมน เลปติน (Leptin) ที่ทำหน้าที่บอกว่า “อิ่มแล้วนะ” แต่ถ้าเรากินเร็วเกินไป ฮอร์โมนนี้ยังไม่ทันทำงานเต็มที่ เราก็เยอะเกินความจำเป็น
•ร่างกายเผาผลาญไม่ทัน การกินเร็วสัมพันธ์กับ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายจัดการกับน้ำตาลได้ไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของไขมัน โดยเฉพาะ ไขมันหน้าท้อง และนำไปสู่โรคอ้วนในที่สุด
แล้วมันเกี่ยวกับไขมันพอกตับยังไง? หลายคนอาจเคยได้ยินว่าไขมันพอกตับเกิดจาก กินอาหารมันๆ หรือดื่มแอลกอฮอล์เยอะ แต่จริงๆ แล้ว การกินเร็วก็เป็นหนึ่งในสาเหตุนะ โดยหมอได้ยกงานวิจัยที่ชื่อ “Association between fast eating speed and metabolicdysfunction-associated steatotic liver disease: a multicentercross-sectional study and meta-analysis” ของ Zhang และคณะ มาเล่าให้ฟัง

งานวิจัยนี้ศึกษาคนหลายพันคน และพบว่า คนที่กินเร็วมีโอกาสเป็นไขมันพอกตับมากกว่าคนที่กินช้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง กินเร็วทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว ร่างกายเลยผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น ซึ่งไปกระตุ้นให้ ไขมันสะสมในตับ รวมถึงไขมันไตรกลีเซอไรด์พุ่ง การกินเร็วทำให้ไขมันในกระแสเลือดสูงขึ้น และสุดท้ายก็ไปสะสมที่ตับ ตับอักเสบ การสะสมของไขมันที่ตับ มันกระตุ้นให้เกิด การอักเสบเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นไปนานๆ อาจนำไปสู่ ตับแข็ง หรือแม้แต่ มะเร็งตับ ได้ค่ะ
โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบ cross-sectional และ meta-analysis ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหลายที่ และผลออกมาชัดเจนว่า คนที่กินเร็วมีโอกาสเป็นไขมันพอกตับมากกว่าคนที่กินช้าประมาณ 30-50% , BMI และรอบเอวของคนที่กินเร็วสูงกว่าคนที่กินช้า , ค่าเอนไซม์ตับ (ALT, AST) สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าตับเริ่มมีปัญหา พูดง่ายๆ คือ กินเร็ว = ไขมันสะสมที่ตับเร็วขึ้น = ตับพังไวขึ้น!
แล้วกินเร็วเสี่ยงเป็นโรคอะไรอีกบ้าง? ต้องบอกงี้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องอ้วนกับไขมันพอกตับ แต่การกินเร็วทำให้เสี่ยงโรคอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะร่างกายจัดการกับอินซูลินได้แย่ลง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูงขึ้นทำให้เสี่ยงโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง กรดไหลย้อน (GERD) การกินเร็วทำให้อาหารไม่ย่อยดี และมีโอกาสที่กรดจากกระเพาะจะไหลย้อนขึ้นมา หรือ ลำไส้แปรปรวน (IBS) เพราะระบบย่อยอาหารทำงานหนักขึ้นกว่าปกติ
ซึ่งจริงๆแล้ววิธีการรักษา ก็แค่ปรับนิสัยการกินเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ อาจใช้เวลากินอย่างน้อย 20 นาที ค่อยๆ กิน เคี้ยวให้ละเอียด สมองจะได้มีเวลารับรู้ความอิ่ม ,เคี้ยวให้เยอะขึ้น อย่างน้อย 15-30 ครั้งต่อคำ ช่วยให้ย่อยง่ายขึ้นและกินน้อยลง, เลี่ยงการกินไปเล่นมือถือไป การจดจ่อกับการกินช่วยให้เรากินช้าลง และควบคุมปริมาณอาหารได้ดีขึ้น ,ใช้ช้อนเล็ก หรือกินด้วยตะเกียบ ทำให้ตักอาหารได้น้อยลง และกินช้าขึ้นโดยอัตโนมัติ, เลือกอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ผัก ผลไม้ ธัญพืช ช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น และลดความอยากอาหาร
ถ้าอยากลดโอกาสอ้วนและไขมันพอกตับ แค่กินช้าลง ก็ช่วยได้เยอะแล้ว งานวิจัยของ Zhang และคณะยืนยันว่าคนที่กินเร็วเสี่ยงต่อ ภาวะอ้วน, ไขมันพอกตับ และโรคเมตาบอลิกอื่นๆ เพราะมันทำให้ร่างกายเผาผลาญผิดปกติ รวมถึงอย่าลืมป้องกันวิธีอื่นด้วย เช่น ปรับการกิน ออกกำลังกาย ทำIF ควบคู่กันไปก็จะช่วยได้มากขึ้นค่ะ
ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก หมอเจด
https://www.facebook.com/share/p/1H8VvLBDyd