โรค MOH ยิ่งกินยาแก้ปวด ยิ่งปวดหัว

หยุด! กินยาแก้ปวดเกินความจำเป็น ถ้าไม่อยากเป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (MOH)

มีอาการปวดศีรษะปุ๊บ หลายคนก็มักจะคว้ายาแก้ปวดมากินปั๊บ โดยไม่ทันได้คิดว่า ยาแก้ปวดเหล่านี้ปลอดภัยหรือไม่ และมีวิธีกินที่ถูกต้องอย่างไร เพราะหากใช้ผิด ชีวิตเปลี่ยน แทนที่จะหายปวด อาจเกิดผลเสียตามมา 

ซึ่งเมื่อวันก่อน (6 ก.ค.66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ระบุว่า 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาแก้ปวดที่เรารับประทานนั้น หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ยาพาราเซตามอลที่มีผลต่อตับ กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ที่เป็นพิษต่อไต และทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารจนเลือดออก รวมถึงยากลุ่มเออร์กอต (Ergot) ที่เราพบกันในข่าวว่าสามารถทำให้มือหรือเท้าขาดเลือดถึงขั้นต้องตัดมือตัดเท้า 

ทั้งนี้ อาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งอาการแบบนี้เรียกได้ว่า โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น (Medication overuse headache) หรือ MOH  

โดยโรคนี้ มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะเป็นประจำ อย่าง โรคไมเกรน แล้วรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป จนสมองมีการสร้างตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อระดับยาแก้ปวดลดลงจะทำให้สมองเกิดความไวต่อความเจ็บปวด ทำให้อาการปวดศีรษะมีความถี่มากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  

โดยสามารถสังเกตอาการว่ามีความเสี่ยงจะเกิดโรค MOH หรือไม่ ได้ดังนี้ 

– รับประทานยาแก้ปวดแล้ว ยาออกฤทธิ์สั้นลง 

– รับประทานยาแล้วไม่หายปวดศีรษะ 

อย่างไรก็ตาม การรักษา MOH มีหลักการง่ายๆ คือ หยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิด MOH รวมถึงไปพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคปวดศีรษะเดิมให้ถูกต้อง แต่การหยุดยาแก้ปวดนั้น มักทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานจากอาการปวดอยู่ช่วงหนึ่ง 

ดังนั้น ‘อีจัน’ แนะนำว่า ควรใช้ยาแก้ปวดให้ถูกต้องและเหมาะสมดีกว่าค่ะ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที 

คลิปอีจันแนะนำ
อัปเดตภาพรวม หลัง พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับไทย