สาวไทย อายุ 21-25 ปี 61.6% ไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะเขินหมอ

ผลการศึกษาของม.มหิดล เผย 61.6% สาวไทยอายุ 21-25 ปี ไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะไม่อยากให้หมอผู้ชาย ทำการตรวจแปปสเมียร์

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย จึงนับเป็นมะเร็งที่มีความสำคัญที่สุด บ้านเรายังคงพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลามแล้วจำนวนมาก ซึ่งสร้างปัญหาต่อการรักษา ทั้งในด้านอัตราการหายจากโรคภาวะแทรกซ้อนของการรักษาและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของครอบครัวและประเทศชาติอย่างมาก

ซึ่ง รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์และการศึกษาถึงระบาดวิทยาของโรคพบว่าโรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคทางเพศสัมพันธ์ และอาจพบร่วมกับการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์บางชนิด

ปัจจุบันนักวิจัยตรวจพบว่าเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก อีกประมาณ 30% เกิดจาก HPV ชนิดอื่นๆ เชื้อไวรัสตัวนี้เกือบทั้งหมดติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์

ขณะที่ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ผู้หญิงไทยเพียง 28.5% ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะที่มีอัตราการรอดชีวิตสูงสุด ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการต่อสู้กับมะเร็งปากมดลูก บริษัท บีจีไอ จีโนมิกส์ (BGI Genomics) ได้เผยแพร่รายงานความตระหนักรู้มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย

โดยรายงานฉบับนี้ได้ประเมินระดับความรู้ ทัศนคติ และแนวปฏิบัติในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซีน HPV เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุปสรรคและโอกาสที่เกี่ยวข้อง โดยทำการสำรวจผู้หญิง 1,878 คน จาก 6 ประเทศและภูมิภาค ได้แก่ บราซิล จีน ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย ไทย และอุรุกวัย

ผลสำรวจพบว่า มีหญิงไทยเพียง 18.8% ที่ไม่เคยผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน นับว่าดีที่สุดใน 6 ประเทศที่มีการสำรวจ และดีกว่าค่าเฉลี่ยในการสำรวจครั้งนี้ซึ่งอยู่ที่ 31.2% อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม 61.6% ของหญิงไทยอายุ 21-25 ปี กลับไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะไม่อยากให้แพทย์ผู้ชายทำการตรวจแปปสเมียร์ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในการสำรวจครั้งนี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องนำเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการตรวจแปปสเมียร์ให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงสาว นั่นคือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA

ความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อ HPV ส่งผลต่ออัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก: ในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ทราบว่ามะเร็งปากมดลูกมักเกิดจากเชื้อ HPV นั้น พบว่า 39.1% ไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 31.2%

การฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับวัคซีน HPV นั้น 82.1% เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเช่นกัน ส่วนในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนนั้น มีเพียง 60.6% ที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้หญิงที่ผ่านการตรวจคัดกรองนั้น 45.8% ได้รับวัคซีน HPV ด้วยเช่นกัน ส่วนในกลุ่มที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองนั้น มีเพียง 22.1% ที่ได้รับวัคซีน ดังนั้น การแจ้งให้ผู้หญิงทราบถึงสถานที่ และเวลาที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองได้นั้นจึงมีความสำคัญ

“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตและกำจัดโรคที่น่ากลัวนี้ให้หมดไปในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลกขององค์การอนามัยโลก” จาง หลิน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท บีจีไอ จีโนมิกส์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.นพ.ชัยยศ ยังระบุว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสรับการรักษาให้หายขาดจากโรคได้สูงเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น การรักษามะเร็งปากมดลูกมีการรักษาอยู่หลายวิธี วิธีการมาตรฐานและใช้ได้ผลดีมีอยู่ 2 วิธี ก็คือการรักษาโดยการผ่าตัดและการใช้รังสีรักษา

ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์มักจะเสริมรังสีรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งส่งผลให้อัตราหายจากโรคนี้สูงขึ้น โดยทั่วไปแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายใดเหมาะสมที่จะรับการรักษาแบบใด โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงในการรักษาแต่ละวิธีและโอกาสที่จะหายจากโรคว่าวิธีใดสูงกว่ากัน