โควิดทั่วโลกทะลุ 681 ล้านคน หายก็ไม่ชิล ยังมี ‘ลองโควิด’ ตามเป็นเงา

‘หมอธีระ’โควิดไม่กระจอก ยอดติดทั่วโลกทะลุ 681 ล้านคน ‘เกาหลีใต้-ไต้หวัน’ ยังท็อปติดเชื้อสูงสุด

โรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค.62 ในนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในภาคกลางของจีนกว่า 19 ล้านคน ถึงตอนนี้ก็กินเวลาไปกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง

วิจัยคาด ลอง โควิด กระทบชีวิต 65 ล้านคนทั่วโลก อาการผิดปกติ 200 อาการ

ล่าสุด วันนี้ (15 มี.ค.66) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ ‘หมอธีระ’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 83,255 คน ตายเพิ่ม 377 คน รวมแล้วติดไป 681,761,401 คน เสียชีวิตรวม 6,813,307 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และรัสเซีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.2 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 64.98

อัพเดตสถิติไทย รายสัปดาห์ 5-11 มี.ค.66

จำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 122 ราย เสียชีวิต 6 ราย หากคาดประมาณจำนวนติดเชื้อใหม่รายวัน จะสูงราว 872-1,211 ราย

วันนี้พุธที่ 15 มี.ค.66

ถือเป็นวันสำคัญ ที่เครือข่ายสากลได้ผลักดันเป็นวันแรกที่จะกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกระลึกถึงปัญหาลองโควิด (International Long COVID Awareness Day) การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก

หลักฐานวิชาการเชิงประจักษ์ทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งจะเสี่ยงต่อการป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่ออาการผิดปกติคงค้างระยะยาวหรือ Long COVID ที่เกิดได้ในทุกระบบของร่างกาย

อัตราการเกิดอยู่ราว 10% แม้ดูจะน้อย แต่จำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกเป็นหลักพันล้านคน ดังนั้น จำนวนผู้ที่จะประสบปัญหา Long COVID จึงสูงมากเป็นเงาตามตัว และสร้างภาระให้กับทั้งตัวผู้ป่วย ที่จะเผชิญกับภาวะทุพพลภาพ บั่นทอนคุณภาพชีวิต มีภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิด

กลไกการเกิด Long COVID เชื่อว่ามาจากหลายกลไก ตั้งแต่การติดเชื้อไวรัสไปในเซลล์อวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดการทำงานผิดปกติตามมา, การกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง, การเสียสมดุลของเชื้อโรคในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย, ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด, การทำงานผิดปกติของเซลล์บุผนังหลอดเลือด เป็นต้น

ดังนั้น จึงควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท การระบายอากาศ และการใส่หน้ากาก เป็นหัวใจสำคัญยิ่ง