
มนุษย์โลกรู้จักกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 นับตั้งแต่จีนประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อเดือน ธ.ค. 2562
ส่วนประเทศไทยโควิด 19 มาเยือนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 โดยพบผู้ป่วยหญิงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยคนแรก และกระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ว่าพบนักท่องเที่ยวหญิงวัย 61 ปี สัญชาติจีน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อคนแรกนอกประเทศจีน

หากนับตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 63 จนถึงวันนี้ 26 ก.ค.65 ประเทศไทยและคนไทยอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาแล้ว 928 วัน คิดเป็น 22,272 ชั่วโมง 1,336,320 นาที หรือ 80,179,200 วินาที และมีแนวโน้มว่าเราจะได้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ตลอดไป
การหลบหลีกภูมิคุ้มกันของ โควิด-19 พัฒนาอย่างต่องเนื่อง นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” โดยเล่าถึงการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ว่า…
โรคไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราตลอดไป แต่ที่น่ากังวลคือ เชื้อไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ เกิดสายพันธุ์ใหม่ตลอดเวลา สายพันธุ์ใหม่แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ปัจจุบันสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ทั่วโลก
ดูย้อนหลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพบครั้งแรกในประเทศอินเดียปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อมาแพร่กระจายเร็ว ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก ใช้เวลาเกือบ 1 ปี ที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 แพร่ได้เร็วกว่าเดิม เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทุกประเทศ
หลังจากนั้นใช้เวลาเพียง 4 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2565 พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ในประเทศแอฟริกาใต้ แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2, BA.4 ขณะนี้กำลังแทนที่ทุกสายพันธุ์ และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทุกประเทศอีกครั้ง
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ครั้งแรกในประเทศอินเดีย ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย และกระจายไป 15 ประเทศ เรายังไม่ทราบว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 จะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.5 หรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ที่น่าเป็นห่วงคือ เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดใน 2 ประเทศคือ แอฟริกาใต้และอินเดีย มีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก
แม้เราต้องอยู่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไม่เห็นวันจบสิ้น แต่สิ่งที่เราใช้เป็นเกราะป้องกันได้คือ การสวมแมสก์เมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง
นับจากนี้และตลอดไป ชีวิตวิถีใหม่จะเดินหน้าแบบไม่ถอยหลังกลับ