
24 ก.ค. 65 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงสถานการณ์ โควิด โดยระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,618 คน ตายเพิ่ม 867 คน รวมแล้วติดไป 574,392,124 คน เสียชีวิตรวม 6,402,011 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย
โดยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 78.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.32
ขณะที่ สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
หมอธีระ ระบุด้วยว่า BA.5 ไม่กระจอก เราผ่านระบาดใหญ่มา ต่อจากนี้ไปจะเป็นเพียงระลอกเล็กๆ เป็นวาทกรรมที่อาจนำไปสู่หายนะได้ หากประมาท
เห็นได้จากสถานการณ์หลายต่อหลายประเทศที่แม้จะโดน โอมิครอน BA.1/BA.2 ระบาดใหญ่มาก่อน แต่ขณะนี้ก็มี BA.5 ครองการระบาด โดยมีระลอกใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหรือเทียบเท่า เช่น ญี่ปุ่น ที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันขณะนี้ถึงราว 200,000 คน มากกว่าระลอกก่อนเกือบ 2 เท่า หรือแม้แต่ อิตาลี ที่ระลอกนี้สูงกว่าระลอกมีนาคม 1.4 เท่า หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ที่ระลอกนี้สูงเทียบเท่ากับระลอกมีนาคมที่ผ่านมา
จำนวนการติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นได้มาก เพราะสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อไวกว่าเดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อน ทำให้กลุ่มเป้าหมายของไวรัสนั้นครอบคลุมทั้งแบบติดเชื้อใหม่ (new infection) และติดเชื้อซ้ำ (reinfection)
การป้องกันตัวแบบ non-pharmacological interventions จึงมีความสำคัญมาก ได้แก่ การลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการแชร์ของกินของใช้ และเรื่องการใส่หน้ากาก
ทั้งนี้ การติดเชื้อ ไม่จบชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้
ดังที่เราเห็นบทเรียนจากประเทศต่างๆ มากมายขณะนี้ที่มีจำนวนการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคน สูงขึ้นชัดเจน เช่น กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สุดท้ายแล้ว ติดเชื้อ ป่วย หรือหาย ถือเป็นผลลัพธ์ระยะสั้น
แต่หากรุนแรงจนเสียชีวิต ผลกระทบระยะยาวย่อมเกิดกับครอบครัว
และแม้รักษาจนหายในช่วงแรก ความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า โอกาสเกิดประสบปัญหาอาการผิดปกติทางร่างกายและอารมณ์/จิตใจในระยะยาว หรือ Long COVID นั้นมีตั้งแต่ 5-30%
เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม