สธ. ระดมผู้เชี่ยวชาญ วิจัย กัญชา เพื่อการแพทย์ เน้นคุณภาพ และปลอดภัย

สธ. ระดมผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันการแพทย์ ร่วม วิจัย กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วางแนวทางปี 66 เน้นคุณภาพ ปลอดภัย ต่อยอด ผลิตเครื่องสำอาง

กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีมจากสถาบันเชี่ยวชาญในสังกัดกรมการแพทย์ ศึกษาวิจัยการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งการรักษาโรคและเวชสำอาง วางแนวทางปี 2566 เน้นผู้ป่วยเข้าถึงอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย มุ่งติดตามการใช้สารสกัดชนิด CBD สูงรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็ก เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักฯ บัญชี 1 ในปี 2567 ศึกษาการใช้เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ต่อยอดผลิตเวชสำอางด้วยเทคโนโลยีห่อหุ้มระดับนาโน พร้อมพัฒนาเครื่องตรวจสารสกัดกัญชาเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการใช้

วันนี้ (23 พ.ย. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมโลกมีการนำกัญชามาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเทศไทยเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ และเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมให้นำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงยากัญชาอย่างมีคุณภาพ

โดยดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข กว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูกการผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ให้ครอบคลุม ส่วนศึกษาวิจัย จะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่น และความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2566 กรมการแพทย์ ในฐานะกรมวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้ เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ที่สอดคล้องกับภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการรักษาโรค เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด  โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในหลายเรื่อง ได้แก่ กัญชาทางการแพทย์กับการรักษาโรคลมชักในเด็กโรคพากินสัน โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กัญชาทางการแพทย์กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและการวิจัยในหนูทดลอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และการวิจัยนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้นมาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต เพื่อช่วยลดอาการทางจิต และลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง

โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี (สบยช.) วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งได้ความร่วมมือของภาคเอกชนการนำกัญชาทางการแพทย์รักษา โรคผิวหนังและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เปิด “ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา” ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison) สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา  สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา  11 ชนิด และสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ทั้งหมดนี้เพื่อให้กัญชาทางการแพทย์ได้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพประชาชน

คลิปอีจันแนะนำ
เตรียมบูรณะ ที่พักสงฆ์…ไร้ชื่อ ในทะเบียนวัด-วัดร้างเมืองชุมพร