ฉี่บ่อยเกินไป เสี่ยงโรคไต ต่อมลูกหมากโต

เช็กด่วน! สัญญาณเตือนโรคร้าย ที่หลายคนมองข้าม ปัสสาวะบ่อยเกินไป เสี่ยงโรคไต ต่อมลูกหมากโต

เคยนับกันไหมว่าในแต่ละวัน เราปัสสาวะกันกี่ครั้ง โดยปกติแล้วคนที่กินน้ำปริมาณมาก มักมองว่าการปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติ ทำให้หลายคนแทบไม่เคยนับครั้งในการปัสสาวะเลย ทั้งนี้ ปกติแล้วเราจะปัสสาวะเฉลี่ยวันละ 6–8 ครั้ง แต่หากมีการเข้าห้องน้ำที่บ่อยมากกว่านี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ ดังนี้ 

– โรคเบาหวาน เพราะร่างกายไม่สามารถควบคุมน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงได้ ร่างกายจึงพยายามปรับโดยกำจัดน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินผ่านปัสสาวะ 

– โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อต่อเนื่องมาจากท่อปัสสาวะ เกิดจากการกลั้นปัสสาวะนานๆ บ่อยๆ ทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่ดีพอ 

– โรคไต เนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของไต ไตไม่สามารถดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้ดีเช่นเดิม จึงทำให้น้ำถูกขับออกจากร่างกายมากกว่า และบ่อยกว่าปกติ 

– ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (OAB) จะมีอาการปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ปวดปัสสาวะอย่างฉับพลันไม่สามารถรอได้ และปัสสาวะเล็ดราด 

– ต่อมลูกหมากโต ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ทำให้มีอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่สุด ส่งผลให้ต้องปัสสาวะบ่อย 

– ตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกของผู้หญิงจะขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ 

ทั้งนี้ นอกจากจำนวนครั้งในการปัสสาวะ แล้วยังมีสีปัสสาวะที่เราควรเช็กให้ดีเช่นกัน โดยสีปัสสาวะปกติจะมีสีเหลืองอ่อนใส ไม่ขุ่น หากเราดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองขุ่น หรือดื่มน้ำน้อยแต่ปัสสาวะเป็นสีขาวใส อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้ 

1. ใส ไม่มีสี อาจเกิดจากการดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าควรดื่มในแต่ละวัน ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำเกินไป ในบางกรณีระดับเกลือแร่ที่ต่ำมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัสสาวะใสยังบอกถึงโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน การกินยาขับปัสสาวะ โรคไต 

2. สีขาวขุ่น มักพบได้ในคนที่ดื่มนมมาก จนทำให้เกิดผลึกของฟอสเฟต หรือเกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกรวยอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ 

3. สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทอง หมายถึงระดับน้ำในร่างกายอยู่ในระดับปกติ 

4. สีเหลืองเข้ม เป็นสีปัสสาวะที่ปกติ แต่ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น 

5. สีเหลืองสดหรือสีนีออน อาจเกิดจากกินวิตามินหรืออาหารเสริม ซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ 

6. สีส้ม แสดงให้เห็นว่า ร่างกายขาดน้ำ และมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี หรือตับ รวมถึงอาจเกิดจากการกินแครอท การกินวิตามินบี 2 ในปริมาณมาก รวามถึงการกินยาบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะเป็นสีส้ม 

7. สีส้มเข้มหรือสีน้ำตาล สาเหตุเกิดขึ้นได้จากการขาดน้ำอย่างรุนแรง เป็นดีซ่าน มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย นอกจากนี้ยาบางชนิดยังทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลได้ 

8. สีน้ำตาลเข้มหรือดำ อาจเกิดจากการกินถั่วบางชนิดในปริมาณมาก หรือแสดงถึงโรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคมะเร็งผิวหนัง 

9. สีชมพูและสีแดง หมายถึงการมีเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะ หรือเป็นสัญญาณของโรคไต โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในไต เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต กระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก รวมถึงการกินอาหารบางชนิด เช่น บลูเบอร์รี่ บีทรูท หรือหลังออกกำลังกายอย่างหนักทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่เป็นอันตราย 

10. สีเขียว เกิดจากยาบางชนิดและสีผสมอาหารสีเขียว ที่อาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีเขียวได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ 

11. สีฟ้า อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกที่หายาก ซึ่งทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากยาหรือสีผสมอาหารสีน้ำเงิน 

12. สีม่วง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า อาการปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง พบในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะนานจนมีการติดเชื้อ 

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมหมั่นเช็กปัสสาวะตัวเองด้วยนะคะ ทั้งจำนวนครั้ง และสีล้วนบ่งบอกถึงสถานะของสุขภาพเราทั้งนั้น ซึ่งหากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ควรไปปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองนะคะ 

ข้อมูลจาก: : โรงพยาบาลธนบุรี 2 , โรงพยาบาลเพชรเวช