
การคลอดมี 2 วิธีคือ การคลอดทางช่องคลอด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคลอดธรรมชาติ และการคลอดโดยการผ่าตัดคลอด โดยการคลอดแต่ละแบบจะมีผลดี และผลเสียต่อสุขภาพของแม่ และทารกที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่งข้อมูลจาก โครงการ QUALI-DEC ระบุว่า การคลอดแบบธรรมชาติ ช่วยหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของการผ่าตัดคลอด เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทําให้การคลอดทางช่องคลอดมีความปลอดภัยสูง สตรีที่ลองคลอดทางช่องคลอด จะสามารถคลอดได้เองถึง 90% และสตรี 9 คนจาก 10 คน สามารถคลอดได้เองอย่างปลอดภัย มีเพียงไม่ถึง 10 คน จาก 100 คน ที่อาจจะต้องผ่าตัดคลอด
ขณะเดียวกัน วานนี้ (9 ส.ค.66) นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โพสต์ภาพเอกสารประกาศจุดยืน เรื่องการผ่าตัดทำคลอด ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2566 พร้อมเขียนแคปชันบนเพจเฟซบุ๊ก Olarik Musigavong ระบุว่า
น่าสนใจเรื่องของกระบวนการความรู้ความเข้าใจ ทำวิจัยให้คุณแม่ทำข้อสอบ เกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจความเสี่ยง และประโยชน์ ในกลุ่มที่เลือกผ่าตัดคลอด กับกลุ่มที่คลอดเอง โดยข้อมูลที่ให้มาจากองค์กรกลาง ผลจะเป็นอย่างไร ข้อมูลข้อดีข้อเสียตามงานวิจัย
ทั้งนี้ เนื้อหาภายในเอกสารระบุว่า ปัจจุบันนี้การผ่าตัดคลอดมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ การศึกษาและการประมวลผลจาก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) พบว่าการผ่าตัดคลอดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้สูงกว่าการคลอดทางช่องคลอด และยังทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งเกิดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรอื่นๆ
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่ยอมรับกันทั่วโลก เพราะอัตราดังกล่าวขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การศึกษาในประเทศไทยพบว่าอัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณร้อยละ 30-50 และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการกำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย ดังต่อไปนี้
1.การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง
2.ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก
3.ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกราย ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางกรแพทย์จนเข้าใจดีและลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
4.การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยง และประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว
หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและ ใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น
5.การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่ มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป
6.การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์
7.อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ
8.สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น
ได้ฟังแบบนี้แล้ว คุณแม่หลายคน จะเลือกคลอดธรรมชาติ หรือผ่าตัด กันคะ แวะมาบอก 'อีจัน' หน่อยนะ