ตระหนักรู้ถึงโรคร้ายทุกวันที่ 1 ธันวาคม วันเอดส์โลก (World Aids Day)

1 ธันวาคม วันเอดส์โลก (World Aids Day) สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก

1 ธันวาคม ของทุกปี อยากเชิญชวนให้ร่วมตระหนักถึงภัยของโรคร้ายใน วันเอดส์โลก (World Aids Day) ซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์  เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก โดยใช้โบว์แดงเป็นสัญลักษณ์สากล ที่แสดงถึงการตระหนักรู้ การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่า เอชไอวี/เอดส์ยังคงอยู่ และปี 2565 นี้ UNAIDS ชูประเด็นรณรงค์ คือ “Equalize: ทำให้เท่าเทียม”

สำหรับ “โรคเอดส์” มีการกล่าวถึงการพบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน และไม่เคยใช้ยากดภูมิต้านทาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จากการศึกษาย้อนหลัง พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอัฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเซียรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ในปี พ.ศ. 2526 Luc Montagnier นักไวรัสวิทยาชาวฝรั่งเศส สามารถแยกเชื้อจากต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วย และตั้งชื่อว่า Lymphadenopathy Assoiciated Virus หรือ LAV และในเวลาใกล้เคียงกัน Robert Gallo นายแพทย์ชาวอเมริกันก็สามารถแยกเชื้อจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย และตั้งชื่อว่า Human T cell Lymphotropic Virus Type III หรือ HTL V III ต่อมา Levy นายแพทย์ชาวอเมริกัน สามารถแยกเชื้อชนิดเดียวกันนี้และตั้งชื่อว่า AIDS related virus จากการศึกษาในเวลาต่อมา พบว่าเชื้อทั้ง 3 ตัวนี้น่าจะเป็นเชื้อตัวเดียวกันจึงตกลงตั้งชื่อให้เป็นสากลว่า Human Immounodeficiency Virus หรือ HIV

HIV ย่อมาจาก human Immunodeficiency Virus เชื้อไวรัสนี้เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย

AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่างๆ

สำหรับผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยนั้น เป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี พ.ศ. 2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2527 ประเทศไทยเริ่มมีโรคเอดส์เกิดขึ้นตามรายงานครั้งแรก และในช่วง ปี พ.ศ. 2527จนถึงปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบให้มีคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ

  • เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์

  • เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ

  • เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ

  • เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

แนวโน้มของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันในไทย 

ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ 470,000 – 570,000  ราย  มีการเข้าถึงยาต้านไวรัส 447,061 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 6,200-6,800 ราย แต่คาดว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,000,000 ราย และทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมากถึง 38,000,000 ราย

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหายขาดได้แล้วจริงหรือไม่ ?

การรักษายังคงมุ่งไปในหลักการยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนปกติ และมีอายุขัยใกล้เคียงคนปกติ แต่การรักษาที่ทำให้หายขาดยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่หายขาดเพียงคนเดียวเท่านั้นในโลกนี้ที่ผ่านการยืนยันว่าหายจากการติดเชื้อเอชไอวีจริง เป็นชาวต่างชาติที่ติดเชื้อเอชไอวีมานาน และป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวร่วมด้วย โดยผู้ป่วยคนดังกล่าวได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเซลล์ที่ปลูกถ่ายเป็นเซลล์ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เชื้อเอชไอวีไม่กลับมาอีก หลังจากติดตามผลการรักษาเกือบ 10 ปียังพบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องกินยาต้านเอชไอวีอีก ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และตรวจแทบไม่พบเชื้อเอชไอวีในตัว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปลูกถ่ายไขกระดูกยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน แต่ต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เซลล์ใหม่ที่ใส่เข้าไปในร่างกายต้านกับเซลล์เก่า หรือผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดรวมถึงการฉายแสงทั่วร่างกาย ซึ่งมีความเสี่ยงมาก แต่ผู้ติดเชื้อรายนี้ก็สามารถรอดพ้นจากภาวะแทรกซ้อนและหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้นับว่าโชคดีมาก

สำหรับการวิจัยในเรื่องการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 วิธี

  • วิธีแรกคือ การปลูกถ่ายไขกระดูกดังเช่นผู้ป่วยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

  • วิธีที่ 2 คือ การเริ่มยาต้านเอชไอวีอย่างเร็วภายใน 2 สัปดาห์แรกก่อนที่ผลการตรวจ anti-HIV จะเป็นบวก ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อยู่ในการศึกษานี้ ยังมีผล anti-HIV ที่เป็นลบหลังการรักษา

  • วิธีที่ 3 คือ การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แต่การศึกษาวิธีอื่น ๆ นี้ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

รักสนุกคิดป้องกัน เลี่ยงเอส์ได้อย่างไร ?

ใช้ถุงยางอนามัย

ปัจจุบันมีถุงยางอนามัยทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย โดยใช้ป้องกันได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก แต่ควรสวมถุงยางอนามัยก่อนมีการสัมผัสกันของอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก นอกจากนี้ การใช้สารหล่อลื่นร่วมกับถุงยางอนามัยอาจช่วยป้องกันถุงยางอนามัยฉีกขาด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดหรือทวารหนักที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีได้อีกด้วย แต่ควรเลือกสารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำแทนน้ำมัน เพราะสารหล่อลื่นที่ใช้น้ำมันอาจทำให้น้ำยางของถุงยางลดลงจนอาจเกิดการฉีกขาดได้ง่าย

ใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี

การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ โดยการรับประทานยาชนิดนี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ 70 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยาชนิดนี้ยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย

ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การพาคู่นอนและตนเองไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่โรงพยาบาลเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น ทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตนเองก็ตาม ควรไปรับการตรวจปีละครั้ง เพราะการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้

ตรวจเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์

เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งหากคุณแม่มีเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม และการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก โดยหลังจากคลอดแล้ว ลูกน้อยที่เพิ่งคลอดก็ยังคงต้องรับยาต้านเอชไอวี ซึ่งยาจะช่วยป้องกันเด็กทารกจากการติดเชื้อเอชไอวีในขณะคลอดได้ นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อได้ จึงควรให้เด็กดื่มนมผงแทน

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

เพราะการใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาซึ่งเชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือดอย่างไวรัสตับอักเสบซีได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ หากต้องการสักหรือเจาะตามร่างกาย ควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและปราศจากเชื้อเสมอ

สุดท้ายนี้ทุกคนมีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการความต่างไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งคำขวัญวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ในปีนี้ 1 ธันวาคม พ.ศ.2565 เพื่อเป็นการตอกย้ำสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การขยายตัวของโรคนี้ลดน้อยลง เอชไอวีไม่ใช่โรคน่ารังเกียจ “Equalize ทำให้เท่าเทียม”

ขอบคุณข้อมูล pobpad , arit.kpru.ac.th , rama , hivhub

คลิปอีจันแนะนำ
ช่วย 3 สาว ถูกหลอกค้ากาม ที่เมียนมา