ชวนรู้จักตำนานความเป็นมา “คเณศชยันตี” วันประสูติองค์พระพิฆเนศ

“คเณศชยันตี” วันประสูติองค์พระพิฆเนศ อีกหนึ่งวันสำคัญของชาวฮินดู เผยความเป็นมาพร้อมเคล็ดลับบูชาวิธีไหว้และขอพรสมปราถนา

วันประสูติพระพิฆเนศ ปี 2566 นี้ตามปฏิทินฮินดูตรงกับ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นอีกเทศกาลหนึ่งในศาสนาฮินดู ที่ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองกันเรียกว่า “วันคเณศชยันตี” เป็นวันคล้ายวันประสูติวันขึ้น 4 ค่ำเดือนมาฆะ ตามปฏิทินฮินดู หรือ 25 ม.ค. 2566 ในช่วงกลางเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์  ทุกปีเมื่อใกล้ถึงวัสคเณศชยันตี เราจะเห็นผู้ศรัทธาเตรียมเครื่องไหว้นำดินเหนียวมาปั้นเป็นองค์พระพิฆเนศ แล้วเมื่อถึงวัน คเณศชยันตี จะนำขนมลาดู และผลไม้ที่ทรงโปรด มะขวิด ลืมไม่ได้คือ ดอกชบาสีแดง หญ้าแพรก มาทำการบูชา สวดมนต์ แสดงความเคารพ

พระพิฆเนศ ถือเป็นมหาเทพฮินดูที่มีคนเคารพรักอย่างแพร่หลายที่สุดในหมู่คนหลายชาติหลากภาษาและทุกชนชั้น ทั้งนี้พระพิฆเนศถือเป็นเทพที่ผู้คนรักใคร่ไม่เคยเป็นที่รังเกียจของผู้ใด ท่านพร้อมที่จะรับฟังคำวิงวอนของทุกคนที่เข้าหา ซึ่งพระพิฆเนศถือเป็นเทพแห่งศาสตร์ศิลปะ สติปัญญา และความสำเร็จ

รูปลักษณ์อันโดดเด่น

พระพิฆเนศผิดกับมหาเทพอื่น ๆ ตรงที่ท่านเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่อารมณ์ดี มีเศียรเป็นช้าง ร่างกายเหมือนทารกอ้วนพีน่ารัก ขี่หนูเป็นพาหนะ ชอบร้องรำทำเพลง ซึ่งการร่ายรำนั้นไม่ใช่เพื่อปราบอสูร หรือล้างจักรวาล แต่เป็นไปเพื่อความสนุกสนาน ในการลงสีพระพิฆเนศมักให้พระพักตร์สีแดงกับพระกายสีขาว หมายถึงแสงสุริยาที่มาเหนือเมฆฝน และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลก

ตำนานประวัติพระพิฆเนศ

ตามตำราเล่าว่า พระพิฆเนศนั้นเป็นโอรสที่พระแม่ปารวตีพระมเหสีของพระศิวะได้เสกขึ้นมาเพื่ออยู่คอยรับใช้ครั้งที่พระศิวะเสด็จไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานาน ซึ่งครั้งนั้นพระแม่ปารวตีต้องอยู่เพียงลำพัง จึงเสกโอรสขึ้นมาเพื่อดูแลและปกป้องบุคคลที่จะเข้ามาทำร้าย

มีอยู่คราวหนึ่งที่พระแม่ปารวตีต้องการสรงน้ำในพระตำหนักด้านใน จึงได้สั่งให้พระโอรสคอยนั่งเฝ้าหน้าประตูไว้ และรับสั่งว่า ห้ามให้ใครก็ตามเข้ามาในพระตำหนักของพระองค์ทั้งสิ้น แต่ครั้งนั้นเป็นคราวเดียวกันกับที่พระศิวะเสด็จกลับมายังพระตำหนักและเมื่อต้องการเข้าไปข้างในกับพบเด็กหนุ่มนั่งขวางไว้ไม่ให้เข้าตามคำรับสั่งของพระมารดา

พระศิวะจึงโกรธมากและทั้งสองจึงได้ทะเลาะกันใหญ่โตจนเทพทั่วทั้งสวรรค์ต่างเกิดความวิตกเกรงกลัวต่อหายนะที่จะเกิดขึ้น แต่ในที่สุดพระโอรสนั้นก็ถูกตรีศูลของพระศิวะตัดศรีษะขาดจนสิ้นใจ โดยที่พระศิวะไม่ได้ทราบเลยว่าเด็กหนุ่มผู้นั้นทรงเป็นพระโอรสของพระมเหสีของตนที่ถูกเสกขึ้นมา เมื่อพระแม่ปารวตีได้ยินเสียงดังครึกโครมก็ได้เดินออกมาดูและเมื่อเห็นว่าพระโอรสของนางได้ถูกปลิดชีพโดยพระสวามีพระนางจึงได้ตัดพ้อต่อว่าพระศิวะและโศกเศร้าโศกาเป็นอย่างมาก พระศิวะเมื่อทราบความจริงดังนั้นจึงรับปากว่าจะฟื้นคืนชีพพระโอรสให้ แต่หาศรีษะของพระโอรสไม่พบ จนเกือบจะเลยเวลาที่จะสามารถฟื้นคืนชีพได้ จึงได้รับสั่งเทพยดาที่คอยรับใช้พระองค์ว่าให้ออกตามหาศรีษะของสัตว์มาโดยให้นำศรีษะของสัตว์ตัวแรกที่พบมาให้พระองค์

เทพยดาเหล่านั้นจึงออกตามหาและได้พบกับช้าง จึงได้ตัดเอาศรีษะของช้างมาให้กับพระศิวะ พระศิวะจึงได้ทำการต่อเศียรคืนให้กับพระโอรสเพื่อคืนชีพ พร้อมกับยกย่องและตั้งพระนามให้ว่า พระพิฆเนศ ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรคและความทุกข์ยาก โดยได้อวยพรเอาไว้ว่า ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดจะต้องมีการทำพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศก่อน เพื่อความสำเร็จของพิธีเหล่านั้นจากนั้นมา พระพิฆเนศนั้นจึงได้เป็นเทพที่เป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จทั้งปวง โดยได้รับความเคารพจากชาวฮินดูอย่างมาก เพราะเดิมทีนั้นชาวฮินดูจะนับถือเทพทุกชนิดที่เป็นสัตว์ และเชื่อว่าช้างนั้นเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด จึงยกให้พระพิฆเนศนั้นเป็นหัวหน้าของเหล่าเทพทั้งหลายนั่นเอง

เคล็ดลับในวันคเณศชยันตี

  • ทำภารกิจส่วนตัวชำระล้างร่างกายให้สะอาดหมดจด

  • แต่งตัวใส่เสื้อผ้าสีสดใส ถ้าเป็นสีแดงจะดี

  • จุดธูป/กำยาน ประทีป บูชาองค์พระคเณศ

  • สวด “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” 108 จบ

  • ตามด้วยบทคเณศคายตรี “โอม กัง คณปัตเย นะโม นะมะหะ ศรี สิทธิวินายักกา นะโม นะมะหะ อัสถะวินายักกา นะโม นะมะหะ คณปติ บับป้า โมรยา”

  • หลังจบบทคเณศคายตรี ถวายผลไม้ มาลัยดอกไม้ , ถวายขนมลาดู / โมทกะ (โดยเฉพาะลาดูงาดำ) , ถวายปัญจะเมวา ธัญพืช หรือเมล็ดงา ข้าวสาร ฝ้ายสีแดง-เหลือง , น้ำปัญจอมฤต (น้ำนม  นมเปรี้ยว น้ำอ้อยหรือน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำมันเนย)

  • ในวันนี้ควรบริจาคสิ่งของ หรือปัจจัยแก่คนจน ตามกำลังความสามารถ หรือทำทานให้นำประสาท(ของไหว้) โดยเฉพาะขนมลาดูไปแจกเป็นทาน (ส่วนหนึ่งเก็บไว้รับประทาน) หรือแจกให้กับสมาชิกในครอบครัว ผู้นั้นจะได้รับความสำเร็จสมปรารถนา

  • ทำอารตีในช่วงเย็น หรือจะทำหลังจากได้ฟัง หรือศึกษาธรรมะขององค์พระพิฆเนศแล้ว ผู้นั้นจะได้รับความสงบในจิตใจ และความสุขของครอบครัวตามชื่อวัน

  • การอาบน้ำในวันคเณศชยันตี GANESH JAYANTI  หากผู้บูชาสวดถึงพระองค์ขณะอาบน้ำ ชาวฮินดูเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสงบในจิตใจ  และความเจริญในหน้าที่การงาน

อีกหนึ่งเกร็ดเพิ่มเติม สำหรับคนที่เคารพและศรัทธา ต่อพระพิฆเนศ จะทราบกันดีว่ามีวันสำคัญ  2 วันที่ต้องจดจำ คือ วันคเณศชยันตี และ วันคเณศจตุรถี วันสองวันนี้เรามักได้ยินคนบอกว่าเป็นวันประสูติพระพิฆเนศเช่นกันแล้ววันคเณศจตุรฺถี กับ วันคเณศชยันตี ต่างกันยังไง ? สำหรับวันคเณศชยันตี (วันประสูติขององค์พระพิฆเนศ) ใช่ทั่วไปก็คือวันธรรมดาปกติวันนึง แต่สำหรับรัฐมหาราษฏระ( อินเดียมี 29 รัฐ แต่มี รัฐเดียวที่ทำและเชื่อ) เชื่อกันว่า วันนี้คือวันประสูติของพระพิฆเนศ หากจะสังเกตุว่าวัดแขกสีลม วัดวิษณุ เทพมณเฑียร จะไม่มีการจัดงาน เพราะเขาจะรอจัดไหว้กันทีเดียวทั่วโลกในวันคเณศจตุรถี แต่ใคร จะใคร่ไหว้ ก็ทำได้ค่ะ ทำพอเป็นพิธีเล็กๆตามแรงศรัทธา เพราะเป็นความเชื่อของรัฐมหาราษฏระ ไม่ใช่ความเชื่อที่แพร่หลายไปทั่วโลก ถึงยังไงก็ถือเป็นวันดีอีกหนึ่งวันใช้โอกาสนี้บูชาเพื่อขอพรให้สุขสมหวังทุกประการ

ขอบคุณข้อมูล : เพจเฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ#อาจารย์เจมส์สำนักณนาคทอง #หมอเจมส์คลอง6ดูไปด่าไป , silpa-mag ศิลปวัฒนธรรม