เปิดเรื่องราวของ “ ติณ ” ชายหนุ่มผู้ทุ่มเท ขอเป็นนักรบด่านหน้าสู้ โควิด

จะมีสักกี่คนที่เสียสละ และทุ่มเทขนาดนี้ ? “ ติณ ”ชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลัง อสต. – ขอเป็นนักรบด่านหน้าสู้ โควิด

เรื่องราวสุดอบอุ่นหัวใจ ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Somporn Saetia ได้โพสต์เล่าถึง “ ติณ ” ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง อสต. หรือ อาสาสมัครต่างด้าว เพื่อช่วยดูแลคนในชุมชนชาวพม่า ในศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่ต้องกักตัวที่ทุ่มเท แรงกาย และแรงใจ ติณ ขอทำงานในโรงพยาบาล แม้ตัวของเขาจะไม่ใช่หมอก็ตาม และยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาด โควิด เขากลับยิ่งเสียสละ และเป็นกำลังสำคัญของ ผู้ที่ต้องทำงานใน โรงพยาบาลสนาม

“โอวัลติน เครื่องดื่มอุ่น ๆ จิบแล้วชื่นใจ ช่างสมกับชื่อเล่นของหนุ่มอารมณ์ดี ที่คุณแม่ริน ตั้งให้ แต่เพื่อนๆ เรียกชื่อให้เก๋ไก๋ ว่า Tinny สุดท้ายยาวเกิน จึงเหลือแค่ ติณ ไอ้ติณ ติณโว๊ย ติณจ๋า น้องติณ พี่ติณ

คุณพ่อชัย หวงแหนและจินตนาการให้ ติณ เป็นคนช่างฝันตั้งชื่อและนามสกุลช่างสอดคล้องเหมาะเจาะ ด.ช.รุ่งเรือง รัตนบรรเทิง ชื่อนี้นะตั้วเฮียของพ่อ

ติณ จบนิเทศศาสตร์ ความสามารถรอบด้าน ร้องเพลง ดนตรี นักแสดง ดีเจ ออกแบบ ทำโฆษณา พิธีกร สร้างสื่อสารพัดรูปแบบ และอื่น ๆ อีกมากมาย สุดปลื้มของชีวิต คือ ติณเข้าหาผู้ใหญ่ใจดีของจังหวัด บอกบุญหาเงินบริจาค เปิดศูนย์หัวใจได้สำเร็จ คุณพ่อชัยย่อมเป็นหัวเรือใหญ่ควบคู่ไปด้วยเสมอ

10 ปี ก่อนหน้า ติณมุ่งมั่นมาทำงานที่ รพ.สมุทรสาคร รับเงินเดือน 6-7 พันบาท พี่หมวย บอก “ติณไปทำงานบริษัทเอกชนเถอะ ความสามารถขนาดนี้ start ก็ไม่ต่ำกว่า 50,000 แล้ว สะสมประสบการณ์ต่อไปได้หลักแสนสบาย ๆ ฟลุ๊ค ๆ เป็นดาราด้วย”

ติณ “ไม่ครับ อยากทำงานโรงพยาบาล สายงานไม่ตรงไม่ได้บรรจุไม่เป็นไร ผมอยากรู้ อยากอยู่ใกล้แม่ ผมคิดว่าความสามารถของผมต้องช่วยงานโรงพยาบาลได้มาก”

ติณ ทำงานออกตามชุมชน ลุยตามสลัมคนไทย และพม่า ทำงานควบคุมการ ติดเชื้อ อาทิเช่น ไช้เลือดออก งาน event ทุกรูปแบบ และทุกเรื่องที่กระทรวง หรือโรงพยาบาลมีงานด่วนมา หลายครั้งที่ต้องทำงาน จนถึง ตี 4 ตี 5 เช้าต้องลุยต่อ ประสบการณ์และความรู้ท่วมท้น แต่ที่มากกว่านั้น คือ ติณทุ่มทั้งชีวิตเพื่องาน

อู่ฮั่น เป็นชื่อจังหวัดของประเทศจีนที่คนทั่วโลกได้ยินแล้วเกิดความสะพรึงกลัว เมื่อเกิดโรคระบาด ผู้คนตายเป็นเรือนพันเรือนหมื่น คนติดเชื้อเพิ่มเป็นหลักแสน จีนต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือ คนติดเชื้อ โควิด ถูกนำเข้ากักตัวและรักษา นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งผ่านมาใกล้ชนปี

ติณซึ่งคลุกคลีกับชุมชนชาวพม่ามาตลอดของการทำงาน ครั้งนั้นติณต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องเข้าไปคลุกคลีกับพม่า ต้องสร้าง อสต. คือ อาสาสมัครต่างด้าว เพื่อช่วยดูแลคนในชุมชนชาวพม่า เพื่อเป็นแกนนำในการสื่อสาร ให้ความรู้ สอดส่องพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยง ในการแพร่กระจายเชื้อ โควิด

สมุทรสาคร เมื่อต้นปี 2563 ทุกพื้นที่สงบจาก โควิด ประชาชนทำมาหากินได้ ทุกคนมีรอยยิ้ม เด็กได้ไปโรงเรียน วันหยุดยาวได้ออกเที่ยว วันลอยกระทงได้ขอขมาพระแม่คงคา สวนสนุกมีคนออกกำลังกาย นักฟุตบอลได้เตะบอล ไม่มีด่านตั้งตรวจให้รกตารำคาญใจ ผู้คนเดินทางไปได้ทั่วประเทศ ลูกเด็กเล็กแดงเดินห้างรับแอร์เย็น ๆ โรงงานเตรียมจ่ายโบนัสพนักงาน สื่อต่างประเทศ WHO ชื่อเต็ม คือองค์การอนามัยโลก มาสัมภาษณ์ อสต. มาดูการทำงาน สื่อทีวีถ่ายทำสารคดี ในความสำเร็จของจังหวัด

ติณผู้อยู่เบื้องหลังมายาวนาน ทั้งการสร้างสื่อในโรงพยาบาลและสื่อให้ประชาชนรับทราบ ติณ น้ำตาตกใน เมื่อไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ สำหรับ โควิด ครั้งนั้นเพราะวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับตำแหน่งที่จะได้บรรจุ แต่ติณยอมรับในโชคชะตา ติณไม่ท้อ ไม่ลาออก ติณมุ่งทำงานเต็มที่ เดินหน้าต่อ เพราะนามสกุล รัตนบรรเทิง แน่แท้เชียวไอ้น้องเอ๋ย

17 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ติณจดจำแม่น เมื่อจังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ป่วย โควิด อีกครั้งหนึ่ง ไทม์ไลน์ คือ ตลาดกลางกุ้ง ดงพม่า

ผอ.อนุกูล เตรียมงานทันที

ติณแทบช็อก และทำใจไว้เลยว่า งานเข้า อย่างยาว

ติณ เตรียมจัดกระเป๋ากระเป๋า บอกพ่อ แม่และศรีภรรยา “ต้องลงสนาม”

ผู้ว่าฯ ปิดและล็อกตลาดกลางกุ้ง ติณไลฟ์สดผ่านช่องทางสื่อสาร ให้ชาวพม่าได้ตื่นตัว ในการป้องกันตนเอง ญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ

รพ.สนาม สนามกีฬา ศูนย์ห่วงใยคนสาคร เป็นศูนย์แรกที่ได้รับการอนุมัติสร้างหลังจากชาวบ้านประท้วงกันมากมาย จากหลาย ๆ ชุมชน

เมื่อสร้างเสร็จ ติณได้รับภารกิจให้เข้าปฏิบัติงาน

หน้าที่หลัก คือการสื่อสาร กับชาวเมียนมา ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ติณต้องสร้าง อสต. ในค่ายกักของศูนย์ห่วงใยขึ้นมาใหม่ทันที

อสต. ต้องรู้ภาษาไทย

อสต. ต้องมีความรู้ เรื่อง COVID

อสต. ต้องเข้าใจภาษาทางการแพทย์ที่ต้องใช้ เช่น ความดันโลหิต ค่าออกซิเจน และอื่น ๆ

อสต. ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดทางการแพทย์เป็น

อสต. ต้องมีใจเสียสละ

อสต. ต้องช่วยสอดส่องพฤติกรรมของเพื่อนที่ติดเชื้อทุกคน เช่น เหล้า ยาเสพติด

อสต. ต้องประเมินอาการที่ผิดปกติ ของความเจ็บป่วยได้

อสต. ต้อง …………ฯลฯ

ความวุ่นวาย ย่อมเกิดขึ้นเมื่อคนมาอยู่รวมกันถึง 700 คน มีทั้ง หญิง ชาย คนแก่ เด็กเล็กที่ต้องจากแม่ คนมีโรคประจำตัวมีไม่ใช่น้อย ที่นี่ไม่ใช่นักโทษ แต่มีชีวิตที่ไม่อิสระ

ความเครียดย่อมเกิด

พี่ติณ ; น้ำไม่ไหล

พี่ติณ ; ส้วมตัน

พี่ติณ ; ข้าวไม่อร่อย

พี่ติณ ; หิว ข้าวไม่พอกิน

พี่ติณ ; อยากกินขนม

พี่ติณ ; เด็กคนนั้นร้องไห้ จะหาแม่

พี่ติณ ; ปวดหัว

พี่ติณ ; อยากกินกาแฟ

พี่ติณ ; ร้อน ขอน้ำแข็ง จะกินแป๊ปซี่

พี่ติณ ; ยกที ยกไม่ไหว

พี่ติณ ; นอนไม่หลับ

พี่ติณ ; ขี้ไม่ออก

พี่ติณ ; อยากกิน เอ็ม กระทิงแดง

อื่น ๆ อีกมากมาย ฯลฯ.

ทุกอย่างพี่ติณ จัดไป “เอาวะ ไหนไหนก็ไหนไหน เอาให้สุดสุดไปเลย” ใส่ชุด PPE ลุยลงสนามทุกวัน

พี่ติณ จัดกิจกรรม คลายความเครียดให้ ผู้ต้องขัง อ้าวไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิด เขาเป็นผู้ถูกกักบริเวณเท่านั้น กิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานให้กับคนส่วนมาก คือ การออกกำลังกาย ใส่ชุด PPE นำเต้น ถอดชุดเสร็จต้องถามว่า รีดน้ำออกคนละกี่ลิตร กิจกรรมสวดมนต์ทุกวัน เมื่อพลบค่ำ เป็นการเจริญจิตภาวนา เตะตะกร้อ เอาเด็กน้อย มากล่อมให้นอน ป้อนข้าว ป้อนนม ป้อนน้ำ

วันที่ เริ่มรับ ผู้ติดเชื้อ เข้า รพ. สนามกีฬา ผอ.อนุกูล ท่านอยู่คอยกำกับ วันที่ ส่งผู้ติดเชื้อกลับตลาดกลางกุ้ง ผอ. ยังคงไปช่วยส่งกลับให้เป็นขวัญกำลังใจด้วยเช่นกัน

รพ. สนามเป็นงานใหม่ งานใหญ่ งานเสี่ยงภัย หลังจากเสร็จภารกิจรอบแรก เจ้าหน้าที่ทุกคน ได้รับการตรวจเชื้อ ทุกคนรอดปลอดภัยจาก โควิด

ผอ.อนุกูล ยิ้มแก้มปริ

ติณ มีหวานใจ คือน้องโบว์ จะ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีหลานให้แม่ริน “ขอจบ โควิด ก่อนครับ ลูกเก็บไว้ก่อน” ติณเตรียมตัว เตรียมใจได้ยอดเยี่ยม รักห่วงใยทุกคน กลับบ้าน แยกห้องนอน อยู่คนเดียว ซักและรีด เสื้อผ้า ด้วยตนเอง กินข้าวคนเดียว

คิดถึงแม่ แวะไปหา โป๊ก โป๊ก โป๊ก แง้มประตู จ๊ะเอ๋ แล้วไปจาก คิดถึงน้องโบว์ VDO call”

และนี่ก็คือเรื่องราวเกือบทั้งหมด ของ ติณ ชายหนุ่มผู้เสียสละ จันอ่านแล้วยังทึ่งในความทุ่มเท และความเสียสละ ขอให้ พี่ติณ ปลอดภัย และสุขภาพแข็งแรง ที่สำคัญเลยคือ ขอให้ พี่ติณได้บรรจุสักทีน้าาาาาาาา ^_^