“หมอแดง” ชี้ การตายดี เป็นการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การุณยฆาต

อีจัน Life Talk พาไปรู้จัก เข้าใจ การตายดี ที่ไม่ใช่การทำการุณยฆาต เป็นการตายตามธรรมชาติ จากปาก “หมอแดง” วิสัญญีแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

คนเราตายกันได้ทุกวัย คุยกันอยู่หลัด ๆ อาจพลัดพรากจากตายกันตอนไหนก็ได้ ยิ่งในยุคที่มีโรคร้ายมากมาย ความตายดูจะเป็นสภาพจำยอมตามปกติที่หลายคนบอกว่าเลือกไม่ได้

แต่มีหมอท่านหนึ่งบอกว่า เราเลือกที่จะตายดีได้

นาวาเอก นายแพทย์พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ( ระยะประคับประคอง ) อธิบายให้อีจันฟังว่าตายดีคืออย่างไร

“เราต้องรู้ว่านิยามตายดีคืออะไร ที่หมอบอกว่าคนคนหนึ่งควรจะตายไปอย่างไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน นี่เป็นความต้องการของหมอ แต่คนไข้บางคนต้องการอยู่บนโลกใบนี้ให้นานที่สุด เขายอมรับความเจ็บปวดจากการยื้อชีวิต ขณะที่คนไข้บางคนบอกว่าขอไม่เจ็บไม่ปวดเลย ดังนั้น นิยามตายดีของแต่ละคนต่างกัน ถ้ารู้ว่านิยามตายดีของเขาคือการไม่ทรมาน เราก็จะต้องเรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องมาคุยว่าเขาอยากตายแบบนี้นะ ”

หมอแดง ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

คุณหมอบอกว่าเราควรคุยกับคนใกล้ชิดไว้ ว่าถ้าวันหนึ่งเราอยู่ในสภาพดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะวางแผนระยะท้ายอย่างไร อยากยื้ออยู่ให้นานที่สุด หรืออยากสบาย ตายแบบไม่ทรมาน

สำหรับเรา ๆ อาจจะยากที่จะตัดสินใจในยามนั้น แต่สำหรับหมอแดงผู้ผ่านเคสผู้ป่วยตายดีมานับพัน มีหลักการประเมิน ว่าแค่ไหนที่เรียกว่าระยะท้ายที่ต้องเข้าสู่กระบวนการการประคับประคองให้เจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด

“พอเราทำงานด้านนี้มากขึ้นเราจะรู้ว่ามีค่ามาตรฐาน คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย เช่น ถ้าติดเตียง ลุกไปไหนไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างบนเตียง ลบไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสื่อสารไม่ได้ ลบลงไปอีก ซึ่งถ้าคะแนนลบกว่า 50 เราต้องคุยเรื่องระยะท้ายแล้ว”
หมอแดง ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

บางครั้งคะแนนถึง แต่ญาติไม่ยอม  บางครั้งคนไข้ยอมแล้ว ญาติยอมแล้ว แต่ติดที่หมอเจ้าของไข้ ยังอยากรักษาต่อ คนไข้ที่หมอแดงดูแลระยะท้าย จะต้องเป็นคนไข้ที่หมอเจ้าของไข้ส่งมา

“หมอไม่เคยทุกข์เพราะคนไข้ตาย แต่หมอจะทุกข์เมื่อคนไข้ควรจะตายดี แต่ไปมองมิชชั่นการทำอย่างไรให้อยู่บนโลกนี้ให้นานที่สุด สู้จนแม็กซ์สุดท้าย แบบนี้มันบั่นทอนที่สุด”

ตาม พรบ.สุขภาพมาตรา 8 คนไข้ต้องรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตนเองขณะนี้ และอะไรจะเกิดเมื่อถึงระยะท้าย จะต้องตายอย่างไร และมาตรา 12 เมื่อระยะท้ายแล้ว คนไข้มีสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่รับการรักษานั้น ๆ มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิต มีสิทธิ์เรียกหาการรักษาที่ทำให้ไม่ทุกข์ทรมาน

“แรก ๆ  คนไข้ที่ไม่ยอมตายมีสัก 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาพอเราเริ่มไปคุย หมอยังนึกไม่ออกเลยว่ามีใครไม่ยอมตาย เขาอาจมีห่วง แต่พอถามว่าเขารู้ไหมว่าเขาต้องตาย …เขารู้!

ในภาวะปกติ ตั้งแต่ 6-7 ขวบ สื่อสารได้ ก็บอกไว้ได้เลยว่าถ้าอยู่ในภาวะท้ายต้องการแบบไหน สามารถวางแผนได้เลย และเมื่อถึงระยะท้ายยังมีเอกสารอย่างหนึ่งเรียกว่า Living will ที่จะให้ระบุได้เลยว่าเราจะให้รักษาอย่างไร เช่นถ้าต้องเจาะคอ ไม่เอา ถ้าต้องแทงเข็มเจ็บตัว รังแต่จะมีชีวิตอยู่ในร่างที่พัง อยู่เพื่อเสพความเจ็บปวดในระยะท้ายนี่เราไม่เอา อย่างนี้เป็นต้น”

การตายดี ไม่ใช่การทำการุณยฆาต แต่คือการดูแลระยะท้ายให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย ว่าอยากตายสบาย ๆ โดยไม่เจ็บปวด หรืออยากให้ยื้อชีวิตอยู่นานที่สุดแม้จะเจ็บปวด

กระบวนการการตายดี คือการตายตามธรรมชาติ เช่น เมื่ออวัยวะต่าง ๆ ค่อย ๆ หยุดทำงาน ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามลำดับ กระเพาะลำไส้ตับไตไม่ย่อยอาหารไม่ขับของเสีย ก็ไม่เติมน้ำเติมอาหารเข้าไปให้เกิดการสะสมเป็นพิษ หากเจ็บปวดก็ให้ยาบรรเทาปวด เมื่อสมองรับรู้น้อยลง ก็เจ็บปวดน้อยลง

ส่วนการทำการุณยฆาตคือการทำให้ตาย โดยมีแพทย์เป็นผู้กระทำ ปัจจุบันเพียงเข้าไปนอนในแคปซูลขนาดใหญ่พอดีตัว แล้วกดปุ่มให้เครื่องทำงาน เริ่มจากทำให้หลับ ให้ยา และตายไปในชั่วไม่กี่วินาที

แต่การทำการุณยฆาตในประเทศไทย ณ ตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้ ทั้งผิดกฎหมายและผิดหลักศาสนา มีบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ที่กฎหมายอนุญาต ใคร ๆ บินไปใช้บริการทำการุณยฆาตได้ แต่มีขั้นตอนยุ่งยากมาก เช่นต้องเป็นโรคร้ายจริง ๆ ต้องผ่านการรับรองจากจิตแพทย์ ที่สำคัญคือทั้งค่าใช้จ่ายสูงมาก

การตายดี จึงเป็นทางเลือกที่ทุกคนสามารถใช้ได้  เพียงแสดงความจำนงไว้ให้คนใกล้ชิดรู้ล่วงหน้า หรือรีบบอกเมื่อถึงช่วงเวลาป่วยติดเตียง ว่าอยากให้หมอยื้อชีวิตให้นานที่สุด ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงไร  หรืออยากสบายไม่ทรมาน ไม่ถูกเจาะคอ แทงเข็ม ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วถูกขังในร่างที่เจ็บปวด

ไม่เพียงระยะท้ายของกาย แต่ระยะท้ายของใจก็สำคัญ

“คนไข้คนหนึ่งเกรี้ยวกราดตลอดเวลา จิตใจไม่ผ่องใส มีแต่โทสะ แรก ๆ หมอก็บอกว่าอย่าโกรธนะ ซึ่งมันยาก มันฝืนธรรมชาติ ตอนหลังหมอก็แนะนำว่าให้ยอมรับธรรมชาติของจิต โกรธก็ยอมรับว่าโกรธ มันก็พลิก ใจเบาลง ต้องบอกว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เราเข้าไปเปลี่ยนจิตวิญญาณในระยะท้ายเขา”

แต่ก็ต้องยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัว

“ถ้าเรากลัวความตาย เราต้องมาพิจารณาดู ว่าเรากลัวการตายในมิติไหน กลัวการทรมาน กลัวการพลัดพราก กลัวเพราะภาระยังไม่เสร็จ หรือกลัวว่าจะไปไหนไม่ได้ พอรู้แล้วเราก็มาตายแบบธรรมชาติ จะไม่ทรมาน มาทำแอดวานซ์ แคร์ แพลน ให้ทุกคนได้รับรู้  เพื่อวางแผนการเตรียมตัวตาย ซึ่งไม่ยาก ขอให้เปิดใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ”

หากสนใจจะคุยกับหมอแดง นาวาเอก นายแพทย์ พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์  เรื่องการตายดี เปิดอีจัน Life Talk ดูในช่องยูทูป จากนั้นลองเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเพจ หมอแดง ที่ปรึกษาคนไข้ระยะท้าย แล้วคุณจะค่อย ๆ เห็นด้วย ว่าการตายดี ต้องไม่ทำให้ตัวเองและคนใกล้ชิดเดือดร้อน

ที่สำคัญคือต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด

เพราะความตายไม่มีคิว