“อ.ขาบ” Food Stylist นักออกแบบอาหาร จาก โลคัล สู่ ออสการ์อาหารโลก

อีจัน Life Talk พาไปรู้จัก “อาจารย์ขาบ” ผู้พัฒนาโซ่พิสัยโมเดล โดยนำความเป็นชนบท มาสร้างสรรค์เมนูอาหารและบรรยากาศ จนกลายเป็นจุดขายของชุมชน

อ.ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist นักออกแบบอาหาร จาก Local สู่ เลอค่า  

“พี่มีความสนใจอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือทำอาหาร อย่างที่สองคือความงาม จึงเป็นที่มาของการเป็นผู้ออกแบบสร้างสรรค์ความงามของอาหาร” 

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ คือผู้นำความเป็นพื้นถิ่นชนบทหรือ Local มาสร้างสรรค์เมนูอาหารและบรรยากาศโดยรวมให้เลอค่า กลายเป็นจุดขายของชุมชน 

“เรามาจากบ้านนอกบ้านนา รากเหง้าหรือแก่นเราเป็น Local อย่างแท้จริง และเราเป็นศิลปิน มีหน้าที่สร้างสรรค์ความดีงามอารยธรรม เวลาทำสิ่งเหล่านี้มันไม่มีจริต มันคือเรา” 

ตัวอย่างการทำ Local สู่ เลอค่า ที่เห็นชัดเจนคือการปลุกอารยธรรมชุมชนบ้านเกิด ให้มีชีวิตต้อนรับผู้คนที่มาเยือน  

“พี่อยู่อำเภอโซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ในวิถีที่พี่มองคือภูฏาน มีแม่น้ำ ภูเขา พื้นที่ชุ่มน้ำ มีอารยธรรม ขนบธรรมเนียม อาหารการกิน ครบทุกอย่างที่บึงกาฬ มันต้องมีคนที่เป็นนักออกแบบชุมชน ออกแบบประสบการณ์ให้เป็นความงามในวิถีที่มันเป็น ยกตัวอย่างบึงกาฬเป็นจังหวัดสีม่วง มีสถาปัตยกรรมบ้านสีม่วง ต้นไม้สีม่วง เอาเรื่องที่เรามีมาขยายออกไป” 

อาจารย์ขาบยังเป็นเจ้าของรางวัลระดับโลกที่ชื่อ Gourmand Awards 

“รางวัลกูร์มองต์ อวอร์ด หรือออสการ์อาหารโลก ตั้งขึ้นมาเพื่อเชิดชูเกียรติคนที่มีคุณูปการณ์ต่อโลก เราก็มีการประกวดประชันกันที่ฝรั่งเศสกว่า 30 ปีแล้ว เวทีนี้เขาเปิดกว้างให้ทุกคนที่อยู่ในทุกส่วนของอาหาร จะเป็นช่างภาพ คนวาดภาพประกอบ ฯลฯ เอาผลงานที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ ส่งไปประกวด ก็จะมีการคัดกรองประมาณ 130 ประเภทสาขา แล้วเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ได้รางวัลมา 17 ปีซ้อน 

ก่อนที่จะได้ที่หนึ่ง เราก็เคยแพ้ศิโรราบนะ เราก็เลยไปซื้อหนังสือที่ได้ที่หนึ่งของโลกมาดู ว่าที่หนึ่งของโลกเขาทำยังไง ดูกระบวนการแล้วมาพัฒนาในมิติที่เป็นของเรา ก็เลยไต่จากรางวัลที่ 5 ที่ 3 ที่ 2 แล้วตอนนี้ก็ยืนหนึ่งอย่างยาวนาน”   

ชื่อเสียงระดับโลกยังไม่ทำให้อาจารย์ขาบพอใจและเป็นที่รู้จักเท่ากับการทำงานที่บ้านเกิด งานที่เริ่มต้นอย่างมีหลักการว่า 

“เราต้องมองแก่นก่อน แล้วค่อยขยายผลให้รายละเอียดมาอยู่ในนี้ให้ได้ ฉะนั้นเมื่อโครงการจบไป มันจะอยู่อย่างยั่งยืน”  

งานดังกล่าวคือ โซ่พิสัยโมเดล การสร้างคุณค่าให้ชุมชนบ้านนอกกลายเป็นจุดสนใจ ขายตัวเองได้ ไม่ต้องออกมาป่าวประกาศข้างนอก  

“ตอนนี้พัฒนาโซ่พิสัยโมเดล ถ้ามองในกระบวนการท่องเที่ยวชุมชน ภาครัฐก็พยายามเอาคนไปขายของนอกพื้นที่ มันไม่ใช่จริตเขา ชาวบ้านเขาต้องเฝ้าบ้าน เมื่อเขาเอาข้าวของไปขาย ได้เงินแต่ใจคิดถึงบ้าน ขณะเดียวกัน ถ้าเราจัดบ้านสักหลังล่ะจะดีกว่าไหม  เราเอาความงามเชิงสถาปัตย์มาช่วย ทาสีจัดบ้านงาม ทำบ้านสวยเป็นสิบ ๆ หลัง ก็ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา พอมาทุกวี่ทุกวัน ก็เท่ากับหยอดกระปุกให้ชาวบ้านทุกวัน”  

เริ่มจากบ้านธรรมดา ๆ บ้านนอก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แม่ผมเสีย ผมก็เห็นคุณค่าความดีงามของแม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน หัตถกรรม บำรุงพุทธศาสนา งานชุมชน แม่ทรงพลัง พอท่านเสียไป เราควรสื่อสารอย่างไร มองรอบตัวมีบ้านหลังหนึ่ง เราเอาบ้านหลังหนึ่งมาเล่าเรื่องดีไหม เลยเป็นจุดเริ่มต้นการทำพิพิธภัณฑ์  ข้างบนเป็นมิวเซียมข้างล่างเจ้าของบ้านนอน 

ผมจัดองค์ประกอบ เอาข้าวของที่แม่มี สารพัดอย่าง และเอาชุมชนมาร่วมมือ ด้วยความชอบศิลปะ ก็ไปร่วมมือกับศิลปินต่าง ๆ ศิลปินมาวาดกราฟิตี้พญานาคในตัวพื้นที่บ้าน 4 ไร่ 100 ภาพ กราฟิตี้นี้ก็ดึงคนเข้ามาดู แล้วก็ยังมีประติมากรรม พญานาคสี่ตระกูล พญานาคสองฝั่งโขง ก็เป็นเรื่องศิลปะร่วมสมัย ไม่รวมการทำยุ้งข้าวให้เก๋ มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เด็กมาดูงาน นี่คือแรงบันดาลใจ จาก Local สู่เลอค่า” 

โซ่พิสัยโมดลของ อ.ขาบ จึงกำลังเป็นต้นแบบร่วมมือทั้งอำเภอ ซึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตลักษณะนี้เกิดได้ทุกหนแห่ง 

“อยู่ที่เราจะเห็นความงาม และเอารากของเราเองมาสื่อสารอย่างไร ยกตัวอย่าง เรามีบ้านสักที่หนึ่ง เราต้องจัดสรรส่วนที่เป็น public ให้สวย เอาประวัติศาสตร์ใส่เข้าไป ใส่คอนเซ็ปต์ และตกแต่งหน่อย ทุกครอบครัวทุกบ้านทำประวัติศาสตร์ร่วมกันได้ ไม่ต้องรอให้รัฐทำ เราจะกระเพื่อมเศรษฐกิจฐานรากได้”

สนใจแนวคิด อ.ขาบ ที่ใช้ศิลปะการออกแบบสร้างสรรค์ความงามให้ชุมชนได้หลากหลายแง่มุม ออกแบบได้แม้กระทั่งงานศพให้สวยงาม เป็นที่จดจำได้ หรือหากสนใจสินค้าท้องถิ่นที่ประทับใจมีเอกลักษณ์ เช่นการนำต้นคล้ามาทำกระเป๋าอย่างมีดีไซน์ หลากหลายแบบ  

ฟังทั้งหมดได้ในอีจัน Life Talk แล้วคุณจะได้แรงบันดาลใจ ทำเองได้ในทุกหนแห่งค่ะ 

อ.ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist นักออกแบบอาหาร จาก Local สู่ เลอค่า