ลูกความต้องรู้ ค่าวิชาชีพทนายความ ใครเป็นคนกำหนด?

ทนายเจมส์ คลายความสงสัย ค่าวิชาชีพทนายความ ใครเป็นคนกำหนด?

แซบไฟลุก หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองดัง โพสต์เฟซบุ๊กแฉเดือด ทนายเรียกรับเงินค่าแถลงข่าว จำนวน 300,000 บาท จากลูกความ ซึ่งถัดมา มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวยอมรับว่า มีการเรียกรับเงินจริง เพื่อเป็นค่าเสี่ยงภัย

และระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ผิดมารยาททนายความ เพราะเคยเห็นทนายความหญิงคนหนึ่ง ก็เรียกรับเงินค่าออกรายการโทรทัศน์เหมือนกัน

สายเผือกอย่างเรา อยู่ๆ ก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ อดรนทนไม่ได้ ที่จะต้องถาม ‘ทนายเจมส์’ ให้ได้ความแน่ชัดกันไป ซึ่งระบุว่า 

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อาชีพทนายความ เป็นอาชีพที่มีคนพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์หรือโทรทัศน์มากขึ้น และมีทนายความหลายท่าน ที่สังคมรู้จัก และเห็นหน้าผ่านทางรายการโทรทัศน์ หรืออาจจะรู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ช่องทางแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย

ผมเชื่อว่า มีอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจ เรื่องอาชีพทนายความ โดยเฉพาะเรื่องการเสนอราคาค่าวิชาชีพ ค่าใช้จ่าย หรือค่าดำเนินการอื่นๆ วันนี้จะขออนุญาตพูดคุยประเด็นนี้ ให้เข้าใจในมุมของทนายความบ้างครับ

ก่อนจะมาเป็นทนายความ เบื้องต้นต้องเรียนให้จบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลา 3 ถึง 4 ปีแล้วแต่สถาบัน แล้วแต่ว่าจะเรียนต่อเพิ่มเติมในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกหรือไม่ 

หลังจากนั้น จะต้องไปเดินตามทนายความรุ่นพี่ หรืออาจารย์ หรือไปขอฝึกงานในสำนักงานทนายความ เพื่อสะสมความรู้และประสบการณ์ พร้อมกับการสอบใบอนุญาตว่าความให้ได้

เมื่อมีใบอนุญาตว่าความแล้ว ทนายความ สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทนายความประจำในบริษัท จะมีเงินเดือนประจำ ส่วนทนายความในสำนักงาน อาจจะมีแบบมีเงินเดือน หรือได้ค่าจ้างจากคดีอย่างเดียว ตามแต่จะตกลง หรือจะประกอบอาชีพทนายความอิสระก็ได้ ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น

ทนายความที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือนประจำ รายได้มาจากค่าจ้างว่าความ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดี หรือแก้ต่างในคดี หรือ ค่าจ้างทำงานในส่วนอื่นๆ ด้านกฎหมาย เช่น ร่างสัญญา ตรวจสัญญา เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความหรือด้านกฎหมาย ทำพินัยกรรม ออกหนังสือบอกกล่าวทวงถามหนี้ เป็นต้น 

เมื่อทนายความอิสระไม่มีเงินเดือนประจำ บางครั้งค่าว่าจ้าง 1 คดี ต้องบริหารการเงินไปหลายๆ เดือนก็มี เผื่อบางเดือนไม่มีงานคดีเข้ามาให้ทำ ซึ่งถ้าทนายความมีฐานะทางบ้านดีอยู่แล้ว หรือมีคดีเข้ามาให้ทำอย่างต่อเนื่อง ก็ถือเป็นความโชคดี

จากที่เล่ามาทำให้เห็นภาพบางส่วน ตั้งแต่ความยากในการเรียน ในการสอบใบอนุญาตว่าความ ตลอดจน ทนายความจะต้องใช้เวลาในการสะสมความรู้ ประสบการณ์ ชั้นเชิงในการว่าความ หรือการทำสำนวนคดี เกี่ยวกับคดีในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 3 ถึง 5 ปี บางคนอาจจะใช้ระยะเวลานานกว่านี้

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกความ และความชำนาญในการดำเนินคดี แต่ในขณะเดียวกันอาชีพทนายความอิสระ กลับไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีอะไรการันตีว่า ในเดือนต่อไปจะมีงานคดีเข้ามา หรือมีรายได้อย่างอื่นเข้ามาเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว

ทนายความอิสระ จึงมีต้นทุนชีวิต และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ทนายความที่มีต้นทุนสูง ก็อาจจะเรียกค่าวิชาชีพแพงกว่าทนายความท่านอื่น เนื่องจากมีค่าเช่าสำนักงาน มีค่าจ้างทนายความในสังกัด หรือค่าจ้างพนักงานในส่วนอื่น หรือมีประสบการณ์สูง 

เคยว่าความคดีใหญ่ๆ หรือคดีดังๆ มา หรือมีต้นทุนในการเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก สอบได้เนติบัณฑิตไทย ยิ่งจะทำให้การเรียกค่าวิชาชีพ หรือค่าดำเนินการต่างๆ สูงตามขึ้นไปด้วย 

ทนายความบางท่าน อาจจะเรียกค่าวิชาชีพตามความเหมาะสม หรือความยากง่ายของคดีหรือทุนทรัพย์ของคดีก็มี บางครั้งทนายความกับลูกความ สนิทสนมกัน ขอความช่วยเหลือกันได้ ก็อาจจะเรียกค่าวิชาชีพต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ทนายความเคยเรียกเก็บจากลูกความรายอื่นก็มี บางครั้งไม่เรียกเก็บค่าวิชาชีพก็มี เนื่องจากเห็นอกเห็นใจ หรือสงสารลูกความที่ได้รับความเดือดร้อนก็มี

**การว่าจ้างให้ดำเนินคดี หรือแก้ต่างในคดี ที่ลูกความตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา แม้ทนายความจะเรียกเก็บค่าวิชาชีพสูงเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจ และความพร้อมด้านการเงินของลูกความด้วย หากไม่พึงพอใจ หรือการเงินไม่พร้อม ลูกความก็มีสิทธิ์ที่จะไปเลือกใช้บริการทนายความท่านอื่นได้**

บางครั้งทนายความเรียกค่าวิชาชีพถูก แนะนำเป็นอย่างดี แต่ไม่ถูกใจลูกความ ไม่ได้ดั่งใจลูกความ การจ้างงานไม่เกิดขึ้นก็มีครับ หรือลูกความเปลี่ยนตัวทนายความในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็มี ซึ่งอาจจะไม่พึงพอใจในการทำงาน หรือมีเหตุผลอื่นก็ได้ เป็นสิทธิ์ของลูกความ หรือตัวความในคดีที่จะเปลี่ยนทนายความเมื่อไหร่ก็ได้

**อัตราค่าวิชาชีพที่สูง เรียนจบสูง ประสบการณ์สูง หรือมีชื่อเสียง ก็ไม่ได้การันตีผลของคดี ดังนั้น ลูกความจึงควรตรวจสอบความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ผ่านมาของทนายความ ก่อนที่จะตกลงว่าจ้าง หรือก่อนที่จะชำระเงินค่าวิชาชีพ**