
เอาแล้ว นี่เรากลายเป็นคนขี้เสือกโดยไม่รู้ตัวแล้วเหรอเนี่ย
จริงมั้ยนะ! เมื่อโซเชียล ทำให้เรามีความขี้เผือก #อยากรู้ชีวิตของผู้อื่น มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยแพทย์หญิงปรานี ปวีณชนาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า เทคโนโลยี “โซเชียลมีเดีย” เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นทุกที แต่ละวันทุกคนใช้สื่อเหล่านี้ไม่มากก็น้อย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ บางคนจับมือถือเป็นอย่างแรกหลังตื่นนอน และวางเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอน จุดเด่นที่ทำให้โซเชียลมีเดียแตกต่างจากสื่ออื่น จนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของการใช้ชีวิตเพราะลักษณะเฉพาะตัวที่ว่า “เข้าถึงง่าย สะดวก ฉับไว ไม่ลบเลือน” คนเราใช้โซเชียลมีเดียด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หาข้อมูลข่าวสารที่ต้องการทราบ ติดต่อธุระ ใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เป็นวิธีการรับมือกับความเครียด โซเชียลมีเดียช่วยย่อโลกให้เล็กลง เพิ่มความสะดวกสบาย ติดต่อกันง่าย (เหมือนจะ)ใกล้ชิดกันมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพียงแค่กดปุ่มสัมผัสที่ปลายนิ้ว และมีข้อดีอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้คนใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าโซเชียลมีเดียมีข้อดีหลายอย่าง แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อเสียด้วยเสมอ มีการศึกษาวิจัยเรื่องผลจากการใช้โซเชียลมีเดียกับการทำงานของสมอง พบว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียบ่อยและมากในระดับหนึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อารมณ์ และความสามารถในการเรียนรู้ เช่น มักอ่านอะไรสั้นๆ ไม่อ่านเนื้อหาทั้งหมด ทำให้ขาดทักษะการจับใจความและวิเคราะห์ข้อมูล เห็นคนอื่นมีสิ่งต่างๆ เกิดการเปรียบเทียบ ทำให้ทุกข์ใจ จนอาจเป็นซึมเศร้าได้ เวลาที่เราใช้โซเชียลมีเดีย สมองต้องรับข้อมูลปริมาณมากในเวลาเดียวกัน (ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น) ทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลา เวลาเล่นมีการหลั่งสารเคมีโดปามีนออกมา ทำให้เกิดอาการติดได้ (เหมือนคนติดสารเสพติด) สมองมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่เรียนรู้ใหม่และความทรงจำใหม่ที่แย่ลง ความสามารถในการตัดสินใจไม่ดี การอดทนรอคอยลดลง จนมีอาการเหมือนคนเป็นโรคสมาธิสั้นได้ หรือแม้กระทั่ง อยากรู้เรื่องของคนอื่นมากขึ้น ทั้งที่ไม่เคเป็นมาก่อน
เมื่อติดโซเชียลมีเดียมากถึงในระดับหนึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะอาการดังกล่าวส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การดูแลสุขภาพสุขอนามัย หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น เกณฑ์การวินิจฉัยต้องมีอาการครบ 4 ข้อ คือ
1. เล่นมากจนเกินไป เช่น เล่นไม่รู้จักเวลา ไม่กิน ไม่นอน เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนอื่น
2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า
3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เพิ่มจำนวนเวลาในการเล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์
4. มีพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่น เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง
“โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย” มักพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นได้บ่อย จำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่กันไป เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ พฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว การใช้สารเสพติด
ข้อเสียอื่นๆ ที่ตามมาจากการใช้โซเชียลมีเดียที่ต้องเฝ้าระวัง ตัวอย่างเช่น การกลั่นแกล้งและคุกคาม (Cyberbullying and Online Harassment) การรับหรือส่งสื่อลามกไปให้คนอื่น (Sexting) ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป การถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การถูกจูงใจให้ซื้อของมากเกินความจำเป็น