
ถึงอีจัน จากอีจันทร์
สวัสดีอีจัน สบายดีม้ายยยย นี่เราไม่ได้คุยกันนานมากแล้วนะ ก่อนอื่นชั้นต้องขอแสดงความยินดีกับเธอด้วยนะที่เริ่มสร้างโรงเรียนได้สำเร็จแล้ว แถมยังเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษซึ่งมันดีงามน่าตื่นเต้นมากๆ เลยนะเธอ ส่วนตัวฉันก็จะขออัพเดตให้ฟังนะว่าตอนนี้ลูกลูกของฉันโตกันหมดแล้วนะเธอ ลูกคนโต 20 แล้วจ้า คนเล็ก 15 แล้วนะ เป็นวัยรุ่นกันเต็มตัวเลยจ้า
นี่..อีจัน วันนี้ฉันจะเม้าท์ให้ฟังนะ มีอยู่วันหนึ่งนะ ชั้นกะลูกลูกไปเที่ยวนอกบ้านกันและไปเจอมนุษย์ป้าท่านหนึ่ง แล้วต่อด้วย “มนุษย์ลุง” อีกท่านหนึ่ง ลูกลูกของฉันถึงกับส่ายหัวให้กับ “ความมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า” สองท่านนั้น...แล้วลูกลูกก็หันมามองฉัน
ลูก: แม่ แม่อย่าเป็นแบบ “มนุษย์ลุงมนุษย์ป้า” นะ
แม่ : ขอคำขยายความที หมายถึงเช่นไรฮะคุณลูก
ลูก : ก็แบบ ไม่สนใจโลก ไม่สนใจใครเลย โลกหมุนรอบตัว
แม่ : อ่าาา …ถ้าวันหนึ่งในอนาคต แม่เป็นถึงขั้นนั้นก็ช่วยเตือนกันด้วยนะคะ ว่าแต่ลูกรู้ไหมว่า…อีกมุมหนึ่งที่แม่อยากคิดออกมาดังดังให้ลูกได้ยินก็คือ…กว่าที่คนคนหนึ่งจะเป็นมนุษย์ป้ามนุษย์ลุงได้เต็มขั้นแบบ “แกร่ง_ทะยาน_ไม่_เกรง_ใจ_ครายยย …” คนนั้นเค้าก็ต้องมีข้อดีส่วนนึงเลยนะก็คือคุณลักษณะที่เรียกว่า “ช่างแม่ง”
ลูก : มนุษย์ลุงมนุษย์ป้าช่างแม่งมากเกินไปไงแม่ … มันถึงดูน่าอึดอัดรำคาญ
แม่ : คือความมนุษย์ลุงมนุษย์ป้าเกินเบอร์ก็น่าอึดอัดรำคาญในความไม่เกรงใจใครแหละ…แต่ส่วนมนุษย์ลุงมนุษย์ป้าตัวน้อยน้อยที่ไม่เกรงใจคนอื่นแบบพอดีพอดีนี่ก็มีความน่าสนใจจริงๆ นะ ลูกลองคิดดูสิว่ากว่าเราจะคิดเรื่อง “ช่างแม่ง” ได้นี่ก็นานนะ อย่างตอนแม่เป็นสาวมากๆ แม่ก็จะรู้สึกเอาคนอื่นเป็นที่ตั้ง เกรงอกเกรงใจ คิดว่าคนโน้นคนนี้จะมองเราอย่างไรนะ แต่พอแม่เป็นสาวน้อยลง ก็เริ่มเข้าใจคำว่า “ช่างแม่ง” นี่ล่ะ มันคือความเป็นอิสระทางความคิดไง
ลูก : คนไทยก็เป็นแบบนี้กันทุกคนแหละแม่ เราถูกฝึกมาให้เกรงใจคนอื่น
แม่: จริงเลย คือฝึกให้เกรงใจผู้อื่นก็ดีและจำเป็น เพราะการได้รับอิสระอย่างมีขอบเขตจะทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมีสงบสุข แล้วลูกรู้ไหมว่ามันมีวิธีฝึกอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ทักษะชีวิต” ซึ่งฝึกได้ตั้งแต่วัยตัวจิ๋วหนึ่งขวบสองขวบกันเลยทีเดียว
ลูก : รู้จักสิแม่ เรียนตั้งแต่ มอ.4 ที่ UWC Isak Japan วิชาชื่อ Leading Self & Leading Others
แม่ : เออเออ ใช่ นั่นแหละลูก งานวิจัยก็บอกเลยว่าประเทศอื่นๆ เค้าสอนเรื่อง Leading Self กันเยอะมากและสอนค่อนข้างเร็วตั้งแต่ตัวจิ๋วเพื่อเตรียมและสร้างให้เด็กมีทักษะชีวิต ส่วนในประเทศไทยพบงานวิจัยส่วนใหญ่จะเอ่ยถึงเรื่องนี้ตอนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่ก็ใช้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาซะส่วนใหญ่ คือช้าไปนิด แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลยนะ
ลูก : อ่าก็จริง แล้วไงต่ออ่ะแม่ แก้ไงดี
แม่: แก้ได้ด้วยความรัก อิอิ
ลูก : เกาหลีเกาใจมากแม่ เอาจริงก่อน!
แม่ : อ่ะเคร เข้าเรื่องจ้ะ ก็คือ..ใช้ความรักของผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็กเล็กเด็กจิ๋วของเรา ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบไปเลย ทำได้ 2 ทาง ทางแรกคือเริ่มจากในครอบครัว ทางที่สองคือจากที่โรงเรียน
ลูก : น่าสนใจ เล่าต่อเลยแม่
แม่ : ครั้งหน้าแม่มาเล่าต่อ วันนี้ขอแม่ทานหมูกะทะอย่างตั้งใจก่อนนะลูกนะ เดี๋ยวไปคุยกับเพื่อนเค้าไม่รู้เรื่องแล้วจะกลายเป็นมนุษย์ป้ามนุษย์ลุงตกยุคไปซะจริงๆ คริคริ
ลูก : อ่ะเครเลยแม่
อ่ะ นี่แหล่ะอีจัน!! เรื่องของบทสนทนาตอนนี้มันก็ปังเช่นนี้แล คราวหน้ามาเล่าต่อนะเธอจ๋า คือที่ฉันเล่ามายาวก็เพราะอยากถามว่าเธอว่าไง เห็นด้วยป่าว อยากชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจ้ะ อีจัน
ลอร่า ศศิธร วัฒนกุล