กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน ฝนตก น้ำขัง ระวังป่วยโรคไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วย โรคไข้เลือดออก แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายช่วงฤดูฝน กับ มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

กรมควบคุมโรค เผยพร่ข้อมูลใน “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ประจำสัปดาห์ที่ 26 (วันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 65) ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 มิถุนายน 2565 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 5,196 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยพบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง น่าน และนครปฐม แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกช่วงต้นปี 2565 จะมีตัวเลขที่ลดลงกว่าปี 2564 แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนเมษายนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กรมควบคุมโรค ระบุว่า ช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้ จนถึงสัปดาห์หน้าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ โดยแนะประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่ เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 ทำให้มีอาการทรุดหนักและรวดเร็วได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน