กรมปศุสัตว์ ยืนยัน โรค อหิวาต์หมู ไม่ระบาดสู่คน

กรมปศุสัตว์ ยืนยัน โรค อหิวาต์หมู (ASF) ไม่ระบาดสู่คน พร้อมแนะ ประชาชน ซื้อ หมู จากแหล่งน่าเชื่อถือ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการยืนยันว่า ตรวจพบเชื้อ โรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร (ASF) จากการเก็บตัวอย่างในจังหวัดนครปฐม และนำไปสู่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 65 นั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ ในการป้องกัน ควบคุมและกำจัด โรค ASF ในสุกร ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาด ASF ในประเทศไทยและมีการควบคุมการเคลื่อนย้าย ในรัศมี 5 กิโลเมตร

รอบจุดที่พบโรคทันที รวมทั้งรายงานไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ อย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และกระบวนการผลิตสุกร ให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากผู้บริโภค อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า เนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทย ยังมีความปลอดภัยและสามารถรับประทานได้ตามปกติ ขอให้มั่นใจได้ เพราะมีการเข้มงวดคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem) ไม่ให้มีสุกรที่ป่วยด้วยอาการ ASF เข้าสู่กระบวนการผลิต

โรค ASF เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งก่อโรคเฉพาะในสัตว์สกุลสุกร คือสุกรและสุกรป่า ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ตัวโรคก่อความรุนแรงมากในสุกร สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีอัตราป่วยในสุกร 100% อัตราตาย 30-100% ในลูกสุกรอัตราตายสูง 80-100% ภายใน 14 วัน ตัวเชื้อไวรัสมีความทนทานในสภาพแวดล้อมสูง ต้องใช้ระยะเวลาถึง 30 นาทีในการทำลายด้วยยาฆ่าเชื้อ สุกรสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง จากสุกรป่วยหรือสิ่งปนเปื้อน การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และการโดนเห็บที่มีเชื้อกัด อาการของโรคสามารถพบได้ทุกกลุ่มทุกช่วงอายุสุกร มีการตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรค และยารักษาที่จำเพาะได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด ในการรายงานกรมปศุสัตว์โดยเร็ว กรณีสงสัยโรค ASF เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที และควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต เพื่อหยุดการระบาด

สำหรับผู้บริโภค ขอให้มั่นใจในการบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ โดยแนะนำว่า ควรเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดีและตรวจสอบย้อนกลับได้ เช่นสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรอง “ปศุสัตว์ OK” รวมทั้งปรุงสุกทุกครั้งด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ก่อนรับประทาน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่างๆ หากเกษตรกรพบอาการต้องสงสัยโรค ASF ในสุกร ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือที่เบอร์ 063-225-6888 หรือ Application: DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังคำสารภาพ 4 พราน ล่า ฆ่า 2 เสือโคร่ง @ป่าทองผาภูมิ