กรมอุตุฯ จับมือ ปภ. แจงกรณี ทุ่นสึนามิไทยใช้งานไม่ได้ ยันไม่มีปัญหา

กรมอุตุนิยมวิทยา จับมือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจงกรณี ทุ่นสึนามิไทยใช้งานไม่ได้ ยันไม่มีปัญหา ส่วนใต้แผ่นดินไหว 30 ครั้งไม่รุนแรง

สืบเนื่องจากกรณีเกิดแผ่นดินไหวใกล้ภูเก็ตเกือบ 30 ครั้ง แต่ทุ่นเตือนภัย 2 ทุ่นของไทย ขึ้นสถานะใช้งานไม่ได้ ล่าสุด วันนี้ (6 ก.ค. 65) นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และกรมอุตุนิยมวิทยา

ทุ่นเตือนสึนามิ ของไทย 2 ตัว ไม่ทำงาน

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า วันที่ 4 – 6 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณ ทะเลอันดามันประเทศอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา โดยศูนย์กลางห่างจาก จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ลักษณะดังกล่าวเป็นการเกิดแผ่นดินไหวแบบกระจุก ไม่รุนแรง อัพเดตตั้งแต่วันที่ 4 – 6 ก.ค. 65 มีการเกิดแผ่นดินไหวแล้วจำนวน 32 ครั้ง มีขนาดระดับ 4.0 – 4.9 เป็นขนาดปานกลางไม่รุนแรง ไม่มีผลต่อการเกิดสึนามิ

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงกรณีที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ มีภาวะน้ำทะเลสูงขึ้นว่า ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว แต่ฝั่งทะเลอันดามันมีมรสุมทำให้น้ำทะเลเกิดคลื่นสูง 2-3 เมตร เป็นภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งมีโอกาสเกิดสึนามิน้อย เนื่องจากไม่ได้มีการเลื่อนตัวในแนวดิ่ง และไม่ได้มีขนาดใหญ่ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา มีการติดตามอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. และแจ้งข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า หลักปฏิบัติในการเปิดแจ้งเตือนสาธารณภัยประเภทสึนามิ คือ เมื่อได้รับแจ้งว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 7.8 ขึ้นไป ทางกรมป้องกันสาธารณภัยจะแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยฝั่งอันดามัน ซึ่งมีอยู่ 130 หอ เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสึนามิจำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต ครอบคลุม 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้านและชุมชน รับทราบ

ขั้นตอนการแจ้งเตือน คือ ส่งสัญญาณจากศูนย์เตือนภัยไปยังพื้นที่ปลายทาง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูล 24 ชม.

นอกจากนี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงประเด็น “ทุ่นสึนามิ” ของไทยใช้งานไม่ได้ว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้วทุ่นสึนามิตัวที่ ปภ. รับผิดชอบทั้งทุ่นตัวไกลและทุ่นตัวใกล้ ชำรุดหลุดออกจากแท่นยึดเสียหาย ซึ่ง ปภ. ได้เก็บกู้จากทะเลกลับมาแล้ว ทั้ง 2 ตัว และจะนำทุ่นกลับไปติดตั้งให้ใหม่ ส่วนที่สงสัยว่าทำไมไม่สามารถนำทุ่นสึนามิไปติดตั้งได้ในทันที

เนื่องจาก ทุ่นสึนามิตัวที่ 1 หรือ ทุ่นตัวไกล ต้องรอส่งมอบจากต่างประเทศ จะมาถึงประเทศไทยในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนทุ่นสึนามิตัวที่ 2 หรือ ทุ่นตัวใกล้ มีความพร้อม แต่การจะออกไปติดตั้งต้องคำนึงถึงสภาพทางทะเล สภาพอากาศ แผนเบื้องต้นกำหนดไว้จะติดตั้งในต้นเดือน พ.ย.นี้ แต่ถ้าสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็อาจจะเร็วกว่านั้น

ทั้งนี้ อธิบดี ปภ. ยืนยันว่า ในภาวะปกติที่ทุ่นสึนามิของเราใช้งานได้ การแจ้งเตือนจะรอข้อมูลจากทุ่นของเรา แต่ในภาวะที่ทุ่นใช้งานไม่ได้เช่นปัจจุบันตามที่เป็นข่าว เราก็ยังมีระบบเครือข่ายที่จะส่งสัญญาณมายังศูนย์เพื่อให้แจ้งเตือน

พร้อมระบุว่า การแจ้งเตือนสึนามิต้องเริ่มจากการเกิดแผ่นดินไหว ระดับตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไปก่อน และแม้เราไม่มีทุ่นสึนามิที่ทำงานอยู่ในเวลานี้ แต่ยังมีสถานีวัดระดับน้ำทะเลทั้งของประเทศไทย ประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย จากจุดที่วัดระดับน้ำทะเลทั้งคนและเครื่องที่เฝ้าระวังจะมีระยะเวลา 1 ชม.เพื่อยืนยันข้อมูลมายังประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่กดยืนยันแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ

ปัจจุบันอุปกรณ์หอเตือนภัยสึนามของไทยมี 130 แห่ง อยู่ในระหว่างการซ่อม 1 แห่ง ที่ไม้ขาวภูเก็ต ส่วนหอเตือนภัยสำหรับการแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมี 1,500 แห่ง

คลิปอีจันแนะนำ
“แม่ตื่น” ปลุกแม่…คิดว่าแม่นอนหลับ