คนริมโขงกังวล โครงการสร้าง เขื่อนสานะคาม กระทบเขตแดนไทย-ลาว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งแก้ไขปัญหา ปม โครงการสร้าง เขื่อนสานะคาม อาจกระทบเขตแดนไทย-ลาว

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมด้วย พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ พร้อมด้วยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเวที่รับฟังความคิดเห็น

กรณีที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดทำโครงการสร้าง เขื่อนสานะคาม โดยมีนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนจาก 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนประชาชนชาวเชียงคานและเยาวชนกว่า 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับฟังสภาพ และร่วมกันหาทางออกเกี่ยวกับกรณีโครงการสร้าง เขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 5 เพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างที่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ราว 2 กิโลเมตร

เรื่องนี้ ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงคาน หวั่นว่าจะเกิดผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเร่งรวบรวมข้อมูลผลกระทบในพื้นที่ในภาพรวม ไปประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการเล็งเห็นผลกระทบจาก โครงการสร้างเขื่อนสานะคาม ใน สปป.ลาว ที่มีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ

โดยเขื่อนสานะคาม เป็นเขื่อนแห่งที่ 5 ตามแผนบันได 5 ขั้น ของรัฐบาลลาว พิกัดห่างจากชายแดนไทย บริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ราว 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง

จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดริมโขง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และ ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจังหวัด 7 จังหวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง เพื่อสรุปปัญหาผลกระทบที่น่ากังวลในหลายมิติ โดยเฉพาะความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อระบบนิเวศ การประมงพื้นบ้าน และความปลอดภัยของเขื่อน รวมถึงการเตือนภัยฉุกเฉินกรณีฝั่ง สปป.ลาว ปล่อยมวลน้ำในเขื่อนสู่แม่น้ำโขง

จากข้อกังวลดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงลงพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ได้เดินทางเข้าพบ นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจาก โครงการดังกล่าว

จากนั้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนจังหวัดริมโขง ทั้งจังหวัดหนองคาย และจังหวัดเลย โดยเมื่อได้ประชุมร่วมกับ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และลงพื้นที่สังเกตการณ์ทำเลที่ตั้งและภูมิทัศน์โครงการก่อสร้าง เขื่อนสานะคาม ณ Skywalk เชียงคาน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า พิกัดที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนสานะคามของรัฐบาลลาว ห่างจากชายแดนไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไม่ถึง 2 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก หากมีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่

ทั้ง 2 ประเทศ จึงควรเร่งหารือเพื่อป้องกันผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจริมฝั่งโขงให้รอบด้าน

และในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ร่วมกับนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมนายสุรสีห์ กิตติ มณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ สุขศรี ศาสตราจารย์ ทวนทอง จุฑาเกตุ ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมเศษฐกิจ ระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมน้ำ โขง 6 จังหวัด (หนองคาย เลย นครพนม บึงกาฬ อำนาจเจริญ มุกดาหาร) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข. : หนองคาย เลย นครพนม บึงกาฬ อำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี) และพี่น้องประชาชนชาวเชียงคานตลอดจนกลุ่มเยาวชน กว่า 100 คน ร่วมสะท้อนปัญหาและเสนอแนะทางออก กรณีดังกล่าว ซึ่งพบประเด็นที่ชาวบ้านในพื้นที่ริมโขงเป็นกังวลโดยสรุป ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขง มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ที่ไม่เป็นปกติ ฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งระดับน้ำอาจขึ้น-ลง 3-4 เมตร ประกอบกับเป็นการสร้างเขื่อนที่ลักษณะแบบ โดมิโน ย่อมส่งผลกระทบสะสมกับอำเภอเชียงคานซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำมากที่สุด ชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และทำการเกษตรริมฝั่งโขงจะได้รับผลกระทบ

2.เรื่องความปลอดภัยของเขื่อนสานะคาม เนื่องจากเขื่อนสานะคาม ใกล้กับชายแดนประเทศไทย แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

3.ปัญหาการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึกและการเปลี่ยนแปลงเขตชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งของประเทศไทย

4.ปัญหาการประเมินผลกระทบสะสมข้ามพรมแดนไม่ชัดเจน เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีลักษณะเป็นขั้นบันได พิกัดที่ตั้งของโครงการยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ส่งผลต่อการศึกษาประเมินผลกระทบสะสมข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงด้านต่างๆ

5.ปัญหาปริมาณน้ำ ในแม่น้ำสาขาซึ่งประชาชนใช้เพื่อการเกษตรและผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภค-บริโภค

6.ปัญหาผลกระทบจากเขื่อนแตก เนื่องจากที่ผ่าน มา พบจังหวัดเลยเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากรอยเลื่อนใหม่ต่อเนื่องจาก สปป.ลาว และข้อให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับ สปป.ลาว ในการทบทวนการสร้างเขื่อนในจุดดังกล่าว

7.ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับประกอบอาชีพของประชาชน

8.ผลกระทบด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

9.ปัญหาการขาดข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคประชาชน ทำให้ยังไม่มีมาตรการเตรียมความพร้อมรับผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ข้อสังเกต 11 ประเด็น

1. ควรที่จะมีการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีที่ก่อสร้างและดำเนินการแล้ว เขื่อนสานะคามที่อยู่ในกระบวนการ PNPCA รวมถึงเขื่อนที่อาจจะสร้างในอนาคต

2. ควรที่จะมีการศึกษาข้อมูลผลกระทบและการศึกษาเชิงวิชาการในเชิงลึกอย่างเป็นระบบ ทั้งในกรอบของ MRC และฝ่ายไทย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ภาคประชาชนจะได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้แล้วก็ตาม แต่อาจไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุนที่เพียงพอที่จะแสดงให้ MRC ได้รับทราบถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะการศึกษาข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนที่สร้างแล้ว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

3. ควรที่จะมีแนวทางการให้ข้อมูลต่อสาธารณะและประชาชน

4. ควรที่จะมีกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการจัดทำประชาคมในเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทั้งเครือข่ายจากหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานในพื้นที่ และภาคประชาชน

5. ขอให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ และกระบวนการต่าง ๆ ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือทบทวน เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป เช่น กระบวนการ PNPCA การขยายกรอบหรือเพิ่มมาตรการ PNPCA ให้ครอบคลุมในเรื่องการเยียวยา การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน การขยายขอบเขตการบริหารจัดการทั้งเขื่อนและแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับสิทธิของแม่น้ำ

6. ควรที่จะมีการแจ้งเตือนปกติที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาให้มีระบบการแจ้งเตือนแบบฉุกเฉิน (Rapid Alert Assistant) เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันต่อเหตุการณ์

7. ขอให้กระทรวงการต่างประเทศหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงว่าจะมีผลกระทบเรื่องร่องน้ำ เขตแดน ดินแดน เกาะแก่ง การกัดเซาะตลิ่ง อย่างเป็นระบบ

8. ควรที่จะให้มีพื้นที่พัฒนาร่วม โดยใช้กรอบทวิภาคีความร่วมมือไทย-ลาว และกรอบ MRC ซึ่งปัจจุบันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อยู่ระหว่างการทบทวน MOU ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและเรื่องเขื่อนโดยเฉพาะ รวมกลไก JC เพื่อผลักดันให้เกิดพื้นที่พัฒนาร่วม

9. ควรที่จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค และภาคประชาน

10. จะมีการรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องซื้อไฟฟ้า แผนการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึงนโยบายพลังงานในภาพรวม เพื่อพิจารณาความสมดุลระหว่างความต้องการใช้พลังงานและผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และแนวทางการดำเนินการในอนาคต

11. เรื่องการเยียวยา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการเยียวยาผลกระทบจากไซยะบุรีอย่างเป็นระบบ หากมีการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะนำไปสู่การเยียวยาต่อไป ในการนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าผู้ใดควรจะเป็นผู้เยียวยา และควรผลักดันให้ MRC มีกองทุนเพื่อชดเชยเยียวยาผลกระทบหรือไม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอื่น ๆ ต่อไป

ซึ่งข้อมูลที่ภาคประชาสังคมสะท้อนในครั้งนี้ จะรวบรวมสรุปวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และผลกระทบของโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยเร็วต่อไป

สำหรับ เขื่อนสานะคาม หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม เป็นเขื่อนลำดับที่ 5 ซึ่งอยู่ตามแผน โครงการบันได 5 ขั้น ของรัฐบาลลาวที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ถูกออกแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ขนาดโรงไฟฟ้าบนตัวเขื่อนมีความยาวประมาณ 350 เมตร สูง 58 เมตร ติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า 12 ตัว แต่ละตัวมีกำลังการผลิต 57 เมกกะวัตต์ รวมเป็น 684 เมกกะวัตต์ โดยมีบริษัทจากประเทศจีน ได้รับสิทธิให้เป็นผู้พัฒนาโครงการนี้ด้วยต้นทุนทั้งหมด ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท งบประมาณส่วนหนึ่งประมาณ 867 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

เขื่อนสานะคาม เป็นอีกเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำโขงที่จะขายไฟให้กับประเทศไทยตามนโยบาย Battery of Asia ของรัฐบาลลาว

สำหรับที่ตั้งโครงการ เขื่อนสานะคาม อยู่ระหว่างเมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี กับเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทร์ อยู่ห่างจากทะเลประมาณ 1,777 กิโลเมตร และในประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)

นอกจาก สปป.ลาว แล้ว ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสานะคามอย่างมากคือ ประเทศไทย เนื่องจากตัวเขื่อนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงห่างชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปทางเหนือเพียงราว 2 กิโลเมตร

สำหรับโครงการเขื่อนสานะคาม เอกสารขั้นต้นของโครงการ ได้รับการเผยแพร่ที่เว็บไซต์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้ว เพื่อให้สาธารณะชนเข้าถึงโดยกระบวนการ “การแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง ( PNPCA)” ของเขื่อนสานะคาม ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 แต่ไม่กำหนดวันสิ้นสุด เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19

สทนช. ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย พิจารณาไม่รับร่าง TRR ฉบับที่ 1 และ Rapid Assessment เนื่องจากมีข้อมูลบางประเด็นยังไม่ครบถ้วน รวมทั้งไม่สามารถสิ้นสุดกระบวนการ PNPCAในวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้

โดย สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า กระบวนการ PNPCA ยังไม่สิ้นสุด และประเทศไทยควรดำเนินการขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจาก สปป.ลาว เพื่อใช้ประมวลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยตามกระบวนการ PNPCA ต่อไป