คุยกับ นักวิจัย มอง การค้าสัตว์ป่า เผย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือตลาดใหญ่ที่สุด!!

ตลาดค้าสัตว์ป่าใหญ่ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิจัย เผย ความเชื่อในของขลัง และการกิน แบบโบราณ ส่งผลตลาดค้าสัตว์ป่ายังคงมีอยู่ และทำให้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ภาพการจับกุมซากสัตว์ป่าหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมการลักลอบขายสัตว์ป่ายังคงมีอยู่ แม้ในปัจจุบันนั้นกฎหมายจะเข้มงวดมากขึ้นก็ตาม

ซึ่งหากจะทราบรายละเอียด ต้องคุยกับนักวิจัย เพื่อให้ได้เข้าใจรายละเอียด

น.ส.เมทินีย์ ภัสสราอุดมศักดิ์ ทำงานในตำแหน่งนักวิจัยและฝ่ายข้อมูล จากองค์กร TRAFFIC มีความเชี่ยวชาญทางด้านการติดตามสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลการตรวจยึดและจับกุมในส่วนของประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ความต้องการในการบริโภคและใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า นั้นเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยภาพรวมทั้งในไทยและภูมิภาคจะลักษณะร่วมกันคือมีการนำสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร เป็นยา เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นของสะสม เครื่องประดับ หรือเครื่องรางของขลัง โดยจะมีเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น อาจเรียกได้ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ในเรื่องของการค้าสัตว์ป่านั้น ก็มีทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย เช่น การทำฟาร์มสัตว์ การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์บางสายพันธุ์ สร้างเม็ดเม็ดเงิน ให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ส่วนการค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย กล่าวรวมถึง การล่า การค้าขาย และการบริโภค ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะตลาดมืด

“การที่ไปล่าสัตว์ ยกตัวอย่าง เช่น เสือ เสือเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ถ้ามีการไปล่า จนไปถึงขั้นที่เรียกว่า สูญพันธุ์ นั้น จะส่งผลกับระบบนิเวศแน่นอน เพราะเสือจะคอยควบคุมประชากรของเหยื่อหรือสัตว์ลำดับอื่นๆ ที่ส่งผลถึงพืชป่าอื่นๆ ด้วย โดยมีการควบคุมกันเป็นลำดับชั้นตามธรรมชาติ ถ้าป่านั้นไม่มีเสือ ป่านั้นก็จะอยู่ไม่ได้ ก็จะส่งผลกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม หากระบบนิเวศล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์ กล่าวคือถ้ายังมีเสือ ยังมีสัตว์ป่า ยังมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ธรรมชาตินั้นมันดำรงอยู่ได้ โดยไม่ต้องมีมนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหากที่ไม่สามารถอยู่ได้ โดยไม่มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

การลักลอบค้าสัตว์ป่า คือจุดเริ่มต้นของ โควิด -19

นักวิจัยท่านนี้ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตามปกติ เชื้อไวรัสโคโรน่านั้น มีอยู่เป็นปกติอยู่แล้วในสัตว์ป่า เช่นใน ค้างคาว หรือตัวลิ่น แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายกับตัวสัตว์ป่าเหล่านั้น และเค้าก็มีประโยชน์กับระบบนิเวศตามปกติ หรือแม้แต่ในสัตว์เลี้ยงทั่วไปก็มีเชื้อไวรัสอยู่ ต้องมีการตรวจสุขภาพมีการพบสัตว์แพทย์

“สำหรับโรคโควิด-19 นั้น มีข้อสันนิฐานที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เชื้อโรคเริ่มระบาด คือการแพร่ระบาดในตลาดสดที่มีการค้าสัตว์ป่า ในเมืองอู่ฮั่น เป็นการนำสัตว์ป่ามาบริโภค ทำให้มีการถ่ายเทและส่งผ่านเชื้อไวรัสโคโรน่าจากสัตว์ป่าต่างชนิดกัน จนกลายพันธุ์ แล้วมีการติดต่อสู่คน เกิดเป็นโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19 ที่เราก็ยังไม่ทราบว่าสัตว์ชนิดใดกันแน่ที่เป็นตัวกลางทำให้เชื้อไวรัสนี้กลายพันธุ์ แล้วมีการติดต่อ (transmission) จากสัตว์สู่คนได้”

ความเชื่อในของขลังทำให้เกิดการล่าสัตว์ป่า

จากสถานการณ์ช่วงโควิดนี้ ได้ถามกับนักวิจัยว่า การค้าสัตว์ป่าในช่วงไวรัสระบาด มีมากขึ้น หรือน้อยลง คุณเมทินีย์ ได้กล่าวว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสแบบนี้ การลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าไม่ได้ลดน้อยแต่อย่างใด ยังมีความต้องการในการบริโภคสัตว์ป่าอยู่ ยังมีความนิยมนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงด้วย ซึ่งก็จะมีทั้งคนที่รู้ และบางคนที่ไม่รู้ว่าสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่สามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้และมีความผิดตามกฎหมายหากครอบครอง

“ถึงจะมีสถานการณ์แบบนี้ ขนส่งอย่างสนามบินปิดดำเนินการ แต่ยังมีการลักลอบการขนส่งสัตว์ป่าในรูปแบบอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน”

เมื่อสอบถามถึงสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ยอดฮิตหรือเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนที่เลี้ยง ซื้อขายสัตว์ป่า หรือลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่านั้น น.ส.เมทินีย์ กล่าวว่า อันดับต้นๆ ที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่องและมีการตรวจยึดและจับกุมได้นั้น ได้แก่ เสือและชิ้นส่วนของเสือ ตัวลิ่น หรือตัวนิ่ม ที่มีคดีจับได้ทั้งเกล็ดลิ่นและตัวลิ่นที่มีชีวิต งาช้าง นางอาย นาก รวมทั้ง นกเงือก

“หากพูดถึง นกเงือก ก็ไม่ใช่สัตวป่าที่เลี้ยงง่าย ตัวใหญ่ เสียงดัง และกินเยอะ ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่จะเลี้ยงนกเงือกได้ จะต้องเป็นคนที่มีเงิน ซึ่งคนที่ไปขโมยลูกนกเงือกออกมาจากรัง ส่วนใหญ่ ก็คือต้องการเงิน เพราะมันมีมูลค่า แต่แน่นอนว่าก็ไม่เหมือนกับการที่นกเงือกอยู่ในป่าธรรมชาติ เพราะนกเงือกไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้โดยคนเลี้ยง และโดยเฉพาะ นกเงือกที่เรียกว่า นกชนหิน มีความต้องการอย่างสูง ทำให้ใกล้สูญพันธุ์ ด้วยความต้องการล่าเพื่อเอาโหนกหัว ที่มีลักษณะเหมือนงาช้าง เพราะความเชื่อในเรื่องของอำนาจบารมี และของขลัง ทำให้มีพรานป่าออกไปล่า จนนนหินถูกคุกคามอย่างหนักมาก”

นอกจากนี้ ในเรื่องความเชื่อนั้น แม้จะมีตำราทางไสยเวท ระบุชัดเจนว่า การจะนำชิ้นส่วนของสัตว์ต่าง ๆ นั้น มาทำของขลัง จะต้องรอให้สัตว์นั้น ๆ ตายลงเสียก่อน แต่ในปัจจุบัน คุณเมทินีย์ ได้บอกว่า เพราะยังมีการใช้ความเชื่อเหล่านี้ แบบไม่สนใจผลกระทบ สร้างขึ้นมาเป็นธุรกิจของขลัง และทำให้เกิดเป็นธุรกิจสีดำ

นอกจากนี้ คุณเมทินีย์ ยังได้เล่าต่อไปว่า การเกิดธุรกิจสีดำแบบนี้ขึ้นมา ทำให้เกิดขบวนการทุจริตขนานใหญ่ เพราะทรัพยากรธรรมชาติ ที่มันหลากหลายในประเทศไทย มันเป็นสมบัติของคนในชาติ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณในการดูแลทุกปี ไม่ว่าจะเป็น น้ำ อากาศ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมถึงสัตว์ป่า เป็นภาษีของประชาชนทุกคน และการเกิดขบวนการค้าสัตว์ป่าขึ้นมา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐนั้น ๆ เพราะกลุ่มเหล่านี้เป็นพวกผิดกฎหมาย เป็นกลุ่มอาชญากรรม มีอาวุธ และ อุปกรณ์ในการล่าสัตว์ มีการดำเนินงานที่เป็นระบบ เป็นอาชญากรรมในชาติและเป็นอาชญากรรมข้ามชาติด้วย เพราะเราจะเห็นได้ว่า การลักลอบนั้น ไม่ใช่เพียงการส่งจากอีกที่หนึ่ง ไปยังสถานที่หนึ่งเท่านั้น แต่มีการส่งผ่านข้ามทวีป

“รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้ กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กำลังได้รับความนิยม กระแสโลกกำลังกลับมาในทิศทางนี้ ไม่ใช่การล่าเพื่อเกมกีฬา เอาชีวิต แบบในอดีต แต่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้การดำรงชีวิตของสัตว์ป่านั้น ๆ การเกิดขบวนการค้าสัตว์ป่า ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ควรจะได้ รวมทั้ง รายได้ในประเทศเอง โดยเฉพาะท้องถิ่นตรงนั้น ผู้ให้บริการการท่องเที่ยว ตัวอย่างที่มีให้เห็น เช่น ในแอฟฟริกา ปี 2016 สูญเสียรายได้การท่องเที่ยวปีเดียว 25 ล้านเหรียญ เพราะมีการล่าฆ่าช้างเอางา แล้วงาช้างที่พูดถึง ไม่ใช่ล่าเพียงเพื่อบริโภคในประเทศเขาเท่านั้น แต่เป็นการส่งออกงานช้างจำนวนเป็นตัน ๆ เข้าสู่ตลาดในเอเชีย ”

อเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ตลาดใหญ่ของการค้าสัตว์ป่า!!

คุณเมทินีย์ ได้เล่าต่อไปว่า ในอดีตนั้น ตลาดค้างาช้างขนาดใหญ่ จะอยู่ในประเทศจีน แต่ทุกวันนี้ จีนแบนตลาดค้างาช้างในประเทศ ทำให้ตลาดเปลี่ยนมาอยู่ในประเทศใกล้เคียงอย่าง ลาว เวียดนาม ส่วนในไทย มีการสกัดกั้นงาช้างแอฟฟริกาและการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตลาดการค้าสัตวป่าในประเทศที่กล่าวถึงมีเกิดขึ้น นักวิจัยท่านนี้ อธิบายว่า เนื่องจากความเข้มข้นในการใช้กฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในบางประเทศก็มีการส่งผ่านสินค้าแล้วหลุดรอดไปได้ เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา หรือแม้กระทั่ง อินโดนีเซีย ซึ่งก็ยังมีปัญหาอย่างมาก มีความพยายามหาช่องทางการลำเลียง เพื่อไปสู่ตลาดใหญ่ที่สุด คือ จีน ที่ยังมีความต้องการตรงนี้มาจากความเชื่อในตำหรับยาแผนโบราณและการบริโภคสัตว์ป่า

“ปัญหาภาพรวมของภูมิภาคนี้ คือเนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก รวมทั้งเป็นเส้นทางลำเลียง จากอีกทวีปหนึ่ง ไปสู่ทวีปหนึ่ง รวมทั้งเป็นผู้บริโภคเองด้วย ยังมีการกินที่เป็นตามความเชื่อการดำรงชีวิตในท้องถิ่น โดยมีความเข้าใจสืบต่อกันว่า กินกันมาแต่โบราณ ก็ไม่มีใครเป็นอะไร แต่โลกและโรคในปัจจุบันนั้นก็ไม่เหมือนกับในอดีต สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป มีมลภาวะที่เพิ่มขึ้น มีขยะอุสาหกรรม ขยะพลาสติก กากนิวเคลียร์ พูดง่ายๆ คือ หลายทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิต โลกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย”

สำหรับการป้องกันในส่วนการค้าสัตว์ป่านั้น คุณเมทินีย์ ได้เล่าให้ฟังว่า ในระดับโลกนั้น ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของโลกและภูมิภาค องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเอ็นจีโอ รัฐบาล ต่างมีความร่วมมือกัน ในการป้องกันและเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า ทั้งนี้ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ต้องมีข้อมูลต่าง ๆ เพื่อวางแผนในการเฝ้าระวัง และ ป้องกัน การค้าสัตว์ป่า

“การทำงานตรงนี้ ก็จะมีการเก็บข้อมูล เพื่อทำงานวิจัย และส่งข้อมูล ให้กับภาครัฐ เอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์กรไซเตส เพื่อเป็นการรายงานผลกระทบที่จะมีต่อสัตว์ป่าว่า สัตว์ป่าชนิดไหนได้รับผลกระทบบ้าง หรือชนิดไหน ยังสามารถค้าได้อยู่”

เมื่อถามว่า การป้องกันการค้าสัตว์ป่าของภาครัฐนั้นเหมาะสมไหม นักวิจัยท่านนี้มองว่า ในไทยมีความกระตือรือร้น ทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพ มีการตรวจตราตามด่านชายแดนทุกวัน มีการเชื่อมโยงหน่วยงานและประสานงานกันหลายฝ่าย เช่น ทีมพญาเสือ ทีมเหยี่ยวดง ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นฝ่ายปราบปรามเพื่อป้องกันการค้าทางออนไลน์ มีการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างเอ็นจีโอกับกรมฯ ส่วนที่มองว่าควรจะทำเพิ่มเติม คือการประสานงานกับหน่วยงานของต่างประเทศ และเอกชน เพื่อพัฒนาการทำงาน และเพื่อป้องกันการค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมายนั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น