จากความ “เหลื่อมล้ำ” สู่การ ฝึกอาชีพให้ นร. ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามโครงการ เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหา การศึกษาไทย นั้น มีหลายมิติ แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาของความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษา โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความไม่พร้อมทางค่าใช้จ่ายของครอบครัว และจากปัญหานี้ ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะเรียนต่อ ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่

ซึ่งในปัจจุบัน ตามกฎหมายของการศึกษาไทย เด็กทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และเมื่อเด็กเรียนครบตามเกณฑ์แล้ว แนวโน้มส่วนใหญ่ของเด็กๆ ที่ครอบครัวมีภาระทางการเงินก็มักจะไม่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือแม้ในบางครอบครัวที่ไม่อยากให้ลูกต้องหยุดเรียน แต่ก็ไม่มีเงินที่จะส่งเรียนจนจบสูงได้ เนื่องจากต้องการคนช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เด็กกลุ่มนี้ จะเรียนถึงชั้น ม.3 แล้วเลือกที่จะทำงาน หาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว

และนี่คือสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา…

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมีจำนวนสูงมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภาระทางการเงินของครอบครัว ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาในปีการศึกษา 2563 พบว่า มีนักเรียนเรียนจบ ม.3 จำนวน 536,511 คน ไม่ได้เรียนต่อในระบบการศึกษาสูงถึง 22,168 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

และนักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้เรียนต่อ ก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” คือ ไม่มีความรู้เชิงลึก ไม่มีทักษะเฉพาะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ค่าแรงที่เขาได้ก็มักจะถูกกดให้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ บางครอบครัวรายได้ไม่พอใช้ ก็ต้องหันหน้าเข้าสู่เส้นทางที่ไม่สุจริต ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา

แต่ถ้าหากเด็กกลุ่มนี้ ได้โอกาสในการศึกษาเพิ่มทักษะด้านอาชีพหลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะช่วยให้นักเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” และนี่ก็จะทำให้พวกเขา มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ ระบุว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงจัดทำโครงการ “เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)” ขึ้นมา เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา รวมถึงพัฒนาเด็กให้มีทักษะฝีมือด้านอาชีพก่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการบูรณาการร่วมกันของ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยตัวโครงการจะฝึกทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ด้วยหลักสูตรระยะสั้น 4 – 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีทักษะ และสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” และจะได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 400-500 บาท

ในส่วนของความช่วยเหลือนั้น ในช่วงระหว่างการศึกษาและฝึกอบรม เด็กกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพตลอดระยะเวลา 4 – 6 เดือน จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ มีหลักสูตรให้เลือกรับการฝึกอบรมฟรี มีที่พักและอาหารฟรี

อีกทั้งในช่วงระหว่างการอบรมก็จะได้รับการสนับสนุนเงินสงเคราะห์ฯ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด เพื่อเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นอีกประมาณ 6,000 – 8,000 บาท

เมื่อเด็กฝึกอบรมจบแล้ว สำนักงานจัดหางานจังหวัด ก็จะจัดเตรียมหางาน หาตำแหน่งว่าง ไว้รองรับให้เด็กได้ประกอบอาชีพ และมีรายได้ทันทีหลังจบหลักสูตร

ส่วนเรื่องของหลักสูตรที่ฝึกทักษะนั้น ทางหน่วยงานจะต้องดูบริบทของแต่ละจังหวัดให้สอดรับกับความต้องการของตำแหน่งงานว่าง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการช่วยเหลือ ทางโครงการจะช่วยเหลือตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ กล่าวคือ กระบวนการต้นน้ำ คือ การสำรวจหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.3 และเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการ

กระบวนการกลางน้ำ คือ การฝึกอบรมทักษะอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสนับสนุนเงินสงเคราะห์ระหว่างฝึกอบรม

กระบวนการปลายน้ำ คือ การสำรวจและเตรียมตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับเด็กที่ผ่านการฝึกอบรม แนวทางการสนับสนุนของหน่วยงานส่วนกลาง และการเตรียมพร้อมสำหรับการทำประชาสัมพันธ์โครงการเพิ่มทักษะให้นักเรียน และผู้ปกครองทั่วประเทศได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในระหว่างที่เข้าฝึกอบรม ได้แก่ เรียนฟรี พักฟรี กินฟรี รวมถึงมีเงินสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรม เรียนจบ มีงานทำแน่นอน

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ทางหน่วยงานได้รับรายงานว่านักเรียนส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ได้ประกอบอาชีพที่มั่นคงตามสถานประกอบการต่างๆ จำนวนมาก เช่น ช่างตรวจเช็กระยะรถยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างซ่อม ช่างเชื่อม เป็นต้น

ยกตัวอย่างที่ จ.จันทบุรี น้องกร หรือ นายวรกร ทองเอม อายุ 16 ปี คือนักเรียนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมกับทางโครงการ เนื่องจากครอบครัวมีปัญหาค่าใช้จ่าย ประกอบกับตัวเด็กเองก็อยากทำงาน มีรายได้ แบ่งเบาภาระครอบครัว

น้องกร เผยว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาฝึกอบรมทักษะอาชีพ มาจากที่โรงเรียนมีการแนะแนว ตนเห็นว่าไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ได้กับได้ แถมยังทำให้ตนมีอาชีพ ดูแลครอบครัวได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโดยไม่ลังเล

ตนเลือกฝึกอาชีพช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ เพราะมีพื้นฐานมาบ้าง เนื่องจากพ่อของตนเป็นผู้รับเหมา จึงทำให้พอมีความรู้ตรงนี้ แต่พอพ่อป่วย ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แม่กลายเป็นเสาหลัก ตอนนี้ตนอยากให้แม่ได้พัก ไม่อยากให้แม่เหนื่อย

หลังฝึกจบหลักสูตร ตนก็เข้าฝึกงานที่บริษัท คลังเกษตร อีควิปเม้นท์ จำกัด จ.จันทบุรี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 400 บาทต่อวัน ก็เป็นรายได้ที่พอจะเลี้ยงตัวเองและแบ่งเบาภาระครอบครัวได้

“อยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อ อยากให้มาเข้ารับการฝึกอบรม สร้างอาชีพ กับโครงการ เพราะเป็นการสร้างโอกาสในอนาคตที่ดีได้ แถมยังมีงานทำ มีรายได้ ตอนนี้มีเพื่อนๆ หลายคนที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้สมัครเข้าโครงการ อยากจะมาสมัครกันเยอะมากๆ เพราะเห็นผมเป็นตัวอย่าง มีรายได้เลี้ยงครอบครัว มีเงินเก็บด้วย”

น้องกร วรกร ทองเอม

สำหรับ เด็กกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประจำจังหวัด โรงเรียนระดับประถมศึกษา(ขยายโอกาส) และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ทุกแห่งทั่วประเทศ

คลิปอีจัน แนะนำ
ที่มาของอาชีพ “นักนอน”