ชวนอ่าน เกร็ดประวัติศาสตร์ ในหน้าเสภา ขุนช้าง ขุนแผน

หามาเล่า ! เกร็ดประวัติศาสตร์ บนหน้ากระดาษเสภา ขุนช้าง ขุนแผน ตามกระแสละคร วันทอง

เรียกได้ว่า กระแสความอิน ความสนใจ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กับละครใหม่ เรื่อง วันทอง ที่เป็นเรื่องราวที่นำมาจาก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นซึ่งเป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย ซึ่งเป็นการเล่าในมุมมองใหม่ ผ่านมุมมองของ วันทอง เป็นแกนหลักของเรื่อง

แต่ครั้งนี้ เราจะไม่ได้มาพูดถึงเรื่องละคร แต่จะมาชวนอ่านในเกร็ดประวัติศาสตร์จริง ที่แทรกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของเสภาเรื่องนี้

สำหรับเสภา เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน มีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการวิเคราะห์กันว่า เป็นแผ่นดินสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์ลำดับที่ 8 ตามความเห็นของ สมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพ

ส่วนทำไม ไม่ใช้ชื่อกษัตริย์ตรง ๆ เชื่อว่ามาจากธรรมเนียมจารีตโบราณ ที่ไม่นิยมเรียกชื่อพระมหากษัตริย์โดยตรง

ขณะที่คำว่า พระพันวษา นั้น เป็นคำที่ใช้เรียกแทน เพราะมีความหมายว่า เจ้าชีวิต หรือ พระเจ้าแผ่นดินนั้นเอง

บทเสภา ที่คุ้นเคยกันนั้น เป็นการพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร่วมกับกวีฝีมือดีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือ รัชกาลที่ 3 ขุนสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ ครูแจ้ง วัดระฆัง โดยเฉพาะ ส่วนของครูแจ้ง ทำให้เรา ให้ความสนอกสนใจ ในเรื่องราวอภินิหาร ไม่ว่าจะเป็น กุมารทอง ม้าสีหมอก ดาบฟ้าฟื้น

ส่วน เมือง ที่มีการกล่าวถึงในเสภา หรือ ในละคร หลายเมือง เป็นเมืองหรือจังหวัดที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น แต่มีบางเมือง ที่ยังมีความสงสัยในตำแหน่งแห่งที่ ว่าเมืองนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ ซึ่งกรณี เมืองเชียงทอง นั้น ถือว่าเข้าข่ายนี้ เพราะมีความเชื่อหรือการวิเคราะห์ไปต่าง ๆ ว่า เมืองเชียงทอง คือ เมืองหลวงพระบาง ตามบันทึกที่มีในพงศาวดาร

แต่หากวิเคราะห์ ตามหลักภูมิศาสตร์ และเส้นทางที่มีในหนังสือแล้ว จะพบว่า เมืองเชียงทอง นั้น ในปัจจุบัน คือ ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก เพราะเมื่อลำดับจากเสภา พลายแก้ว ยกทัพจากอยุธยา ขึ้นไปนครสวรรค์ กำแพงเพชร ระแหง เถิน แล้วถึงเชียงทอง ถ้านับจากแนวหน้าของอยุธยา คือ กำแพงเพชร เมืองเชียงทองก็คือต.เชียงทองนั่นเอง

รวมทั้ง ชื่อ ขุนแผน เชื่อว่าหลายคน อาจจะเข้าใจว่า คำ ๆ นี้ คือชื่อคน แต่ความเป็นจริงแล้ว ขุนแผน คือชื่อของ ตำแหน่ง ตำรวจสมัยอยุธยา วิเคราะห์ว่า สังกัดกรมเวียง ตามสายงานตามระบบจตุสดมภ์ ทั้งนี้ จะมีชื่อตำแหน่งของตำรวจคู่กันว่า ขุนพิศฉลูแสน และขุนแผนแสนสะท้าน มีศักดินา 400 ตามตราศักดินาขุนนางฝ่ายตำรวจ