ชัยวัฒน์ เดินหน้าสู้! แจ้งความทนาย ปู่คออี้ ข้อหาแจ้งความเท็จ

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร แจ้งความทนาย ปู่คออี้ ข้อหาแจ้งความเท็จ ลั่นถึงเวลาทวงคืนความยุติธรรม

จากกรณีที่ นาย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน และอดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 จ.อุบลราชธานี ถูก ปู่คออี้ มีมิ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย กระทั่ง ปปท. ได้มีการชี้มูลความผิด ส่งผลให้ นาย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถูกปลดออกจากราชการ และอยู่ในระหว่างยื่นอุทธรณ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ (27 ก.ค. 64) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นางสาววรภรณ์ อุทัยรังษี ในความผิดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย , แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย , รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด , แจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น และกระทำความผิดตามมาตรา 174 ในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 , 172 , 173 , 174 วรรค 2 และ 181 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สำหรับพฤติการณ์ของคดี คือ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 58 ปู่คออี้ และนางสาววรภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจาก ปู่คออี้ ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.กลยุทธ วงษ์เพ็ชร พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน ให้ดำเนินคดีอาญากับตน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ในขณะนั้น) กับพวก ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 157 , 217 และ 218 โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 5-9 พ.ค. 54 เวลากลางวัน วันที่เท่าใดไม่แน่ชัดใน ขณะที่ตน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ร่วมกันกับผู้ใต้บังคับบัญชา จุดไฟเผาโรงเรือนที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง และทรัพย์สินของชาวบ้านที่อยู่ในตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้รับความเสียหาย อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น

ซึ่งความจริงคือในวันที่ 5-9 พ.ค. 54 ตนกับพวกได้ปฏิบัติการตาม ยุทธการตะนาวศรี ครั้งที่ 4 ตามแผนการผลักดันชนกลุ่มน้อย ไม่ให้มีการบุกรุกป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริเวณพื้นที่ ใจแผ่นดิน และ บางกลอยบน ใกล้ชายแดนพม่า รวมทั้งหมด 7 จุด ตามพิกัด UTM ดังนี้

จุดที่ 1 แปลงที่ 1 พิกัดที่ 518665E 1454203N

จุดที่ 2 แปลงที่ 2 พิกัดที่ 520535E 1449903N

จุดที่ 3 แปลงที่ 3 พิกัดที่ 515165E 1445703N

จุดที่ 4 แปลงที่ 4 พิกัดที่ 514865E 1442903N

จุดที่ 5 แปลงที่ 5 พิกัดที่ 518365E 1442203N

จุดที่ 6 แปลงที่ 6 พิกัดที่ 521065E 1441503N

จุดที่ 7 แปลงที่ 7 พิกัดที่ 524165E 1441603N

ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขา เป็นป่าลึกไม่สามารถนำยานพาหนะใดๆ เข้าไป ในบริเวณดังกล่าวได้นอกจากเฮลิคอปเตอร์ เป็นพื้นที่เข้าถึงได้ยากและอันตราย อีกทั้งมีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย

โดยตนได้เข้าไปเจรจาไว้ก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 25-28 เม.ย. 53 จากนั้นในวันที่ 5-9 พ.ค. 54 ตนและเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปยังพิกัดดังกล่าว ซึ่งถ้านับวันเวลาจากการที่ตนเจรจากับกลุ่มผู้บุกรุกเปิดป่าครั้งก่อน จนถึงการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นระยะเวลานานถึง 12 เดือน 10 วัน พิกัดเป้าหมายทั้ง 7 จุดนั้น เป็นเพิงพักร้างไม่มีคนอยู่อาศัยแล้ว ตนจึงได้ทำลาย รื้อถอน และเผาเพิงพัก 6 จุด จำนวน 7 เพิงพัก ส่วนอีก 1 จุด มี 1 เพิงพักนั้น พบว่าได้มีการรื้อถอนทำลายไปก่อนแล้ว

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ตนปฏิบัติการตามยุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4 ในวันที่ 5-9 พ.ค. 54 นั้น ตนมาทราบภายหลังว่า ในวันที่ 5 พ.ค. 54 เจ้าหน้าที่ทหารทัพพระยาเสือ กองพลทหารราบที่ 9 กองกำลังสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับนายสุริยนต์ (พนัชกร) โพธิบัณฑิต ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

เนื่องจากสืบทราบว่า มีกลุ่มคนซึ่งมีที่อยู่และเพิงพักอยู่บริเวณห้วยสามแพร่ง มีอาวุธปืนเถื่อนไว้ในครอบครองพร้อมเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ในการล่าสัตว์และนำคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาพักอาศัยอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นต้องจับกุมและปราบปราม เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ โดยขอใช้เฮลิคอปเตอร์ไปพร้อมกับภารกิจยุทธการตะนาวศรีของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งนี้ด้วย โดยขอให้เฮลิคอปเตอร์ไปส่งบริเวณพื้นที่บางกลอยบนพิกัดแปลงที่ 7

จากนั้นจึงใช้วิธีการเดินเท้า 1 วัน 1 คืน เดินทางไปยังพิกัดตามเป้าหมาย และในที่สุดก็สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้หนึ่งคน คือ นายนอแอะ มีมิ โดยนายนอแอะ มีมิ อาศัยอยู่กับ ปู่คออี้ จากนั้นในวันที่ 6 พ.ค. 54 เจ้าหน้าที่ทหารได้วิทยุกลับมาที่กองอำนวยการฯ ถึงนายสุริยนต์ (พนัชกร) และได้แจ้งว่าจับผู้ต้องหาได้ 1 ราย พร้อมกับอาวุธปืน 8 กระบอกและเครื่องกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห้วยสามแพร่ง โดยมีเอกสารหลักฐานเป็นภาพถ่าย นอแอะ มีมิ ขณะถูกจับกุมพร้อมของกลางที่ถูกจับ

โดยในบันทึกการจับกุมดังกล่าวได้ระบุพิกัดการจับ นอแอะ มีมิ ที่เพิงพักบริเวณห้วยสามแพร่ง ซึ่งพิกัดดังกล่าวเป็นคนละจุดกับพิกัดที่ใช้ปฏิบัติการตามยุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4 ทั้ง 7 จุด และตนในฐานะหัวหน้าอุทยานฯ เมื่อได้ทราบข้อมูล จึงได้ติดตามการตรวจยึดจับกุม และได้ลงนามในบันทึกการตรวจยึด จับกุมในครั้งนี้ด้วย

หลังจากนั้นได้มีการนำตัว นอแอะ ไปยัง สภ.แก่งกระจาน ต่อมาวันที่ 7 พ.ค. 54 ในขณะที่ตนอยู่ที่กองอำนวยการยุทธการฯ ที่หน่วยพิทักษ์ฯ ที่ กจ.10 (ห้วยแม่สะเลียง) นางบุเรมิ สุภางค์กูร ลูกสาวของปู่คออี้ ซึ่งพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โป่งลึก-บางกลอย มาร้องขอให้ตนไปรับ ปู่คออี้ ที่พักอาศัยอยู่ร่วมกับ นอแอะ ที่บริเวณห้วยสามแพร่งลงมา โดยอ้างว่า พ่อแก่แล้วและตาบอดมองไม่เห็น

ขอให้ตน พาปู่คออี้ มารักษาตาให้ที หลังจากนั้นก็มีการไปรับตัว ปู่คออี้ มาและได้ส่งไปรักษาดวงตาที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเพิงพักอาศัยของ ปู่คออี้ อยู่ที่บริเวณห้วยสามแพร่ง ไม่ใช่พื้นที่บริเวณ ใจแผ่นดิน และ บางกลอยบน ที่ตนกับพวกได้ดำเนินการตามแผนการปฏิบัติภารกิจยุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4

ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งเพิงพักของ นอแอะ และ ปู่คออี้ ที่ต้องเดินเท้าไปยังบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดิน ต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน และเดินไปยังพื้นที่บางกลอยบน ต้องใช้เวลาถึง 1-2 วัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังจากการสัมภาษณ์ของ เพจอีจัน ที่ได้สัมภาษณ์นายหมี ต้นน้ำเพชร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีที่ 3 ในศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส 58/2555 และนายบุญยอด พุกาด (เจ พุกาด) ซึ่งเป็นลูกของนายกื๊อ พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ในศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส 58/2555 และนายแจ พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส 58/2555 โดยมีนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ เป็นล่ามถาม

โดยข้อเท็จจริงจากการตอบคำถามกับสื่อมวลชนที่ถามว่า บ้านหรือเพิงพักที่บอกว่าถูกเผานั้น ถูกเผาเมื่อไร บุคคลทั้งสามได้ตอบคำถามเหมือนกันว่า เพิงพักที่อยู่ที่บางกลอยบน ถูกเจ้าหน้าที่เผา ทำลาย หลังจากได้เกี่ยวข้าวแล้วในเดือน ต.ค. 54 ผ่านไปหนึ่งเดือน คือ เดือน พ.ย. หรือเดือน ธ.ค. 54 ซึ่งขัดแย้งกับบันทึกการสอบข้อเท็จจริงของผู้ฟ้องที่ 3 นายหมี ต้นน้ำเพชร ฉบับลงวันที่ 4 ธ.ค. 54 ที่สภาทนายความจัดทำขึ้น โดยคณะทำงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้บันทึกไว้ว่า

เดือน พ.ค. 54 เพิงพักของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 คนถูกเผาทำลาย และทั้ง 3 คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ คำสัมภาษณ์ดังกล่าวย่อมเป็นข้อยืนยันได้ว่าเพิงพักผู้ฟ้องคดีที่ 2 , ผู้ฟ้องคดีที่ 3 และผู้ฟ้องคดีที่ 5 หากมีอยู่จริง ความจริงแล้วถูกเผาในช่วงเดือน พ.ย. หรือเดือน ธ.ค. 54 ไม่ใช่วันที่ 5-9 พ.ค. 54 ตามที่ได้บันทึกไว้

จากการสอบข้อเท็จจริงของสภาทนายความ คำฟ้องและคำให้การของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ในศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส 58/2555 จึงรับฟังไม่ได้ว่าเพิงพักของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กอยู่ที่พื้นที่ใจแผ่นดินและบางกลอยบน และถูกเผาในวันที่ 5-9 พ.ค. 54 ตามที่กล่าวอ้าง และไม่มีข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานใดที่พิสูจน์ได้ว่าเพิงพักของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 มีอยู่จริงหรือไม่ อยู่ที่ใด ถูกเผาจริงหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร และใครเป็นคนเผา หรือได้รับคำสั่งจากใครให้เผาจาก

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีการเสี้ยมสอน และเป็นการตอบต่อนางพิณนภา ภรรยาของบิลลี่ ย่อมรับฟังได้ว่า เพิงพักของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 และ ที่ 5 ไม่ได้ถูกเผาในวันที่ 5-9 พ.ค. 54 ตามที่ ปู่คออี้ และนางสาววรภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจาก ปู่คออี้ ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 19 ต.ค. 58

การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งความเท็จทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวของ ปู่คออี้ และนางสาววรภรณ์ ที่ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าตน กระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 157 , 217 และ 218 ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน โดยรู้อยู่ว่าไม่มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น

แต่แกล้งแจ้งความให้ตนได้รับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้นอันเป็นเท็จทั้งสิ้น ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ถูกดำเนินคดี ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดวินัย และทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งให้ตนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และปลดตนออกจากราชการ

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า คนเป็นคนถูกกระทำ ถูกให้ออกจากราชการ วันนี้ตนต้องเดินหน้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ตนยืนยันว่า ตนในฐานะของผู้พิทักษ์ป่า ปกป้องทรัพยากรชาติมาตลอดชีวิต แต่กลับไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นตนจะขอต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง