ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ กับ “โควิด-19” ในฐานะ “โรคประจำถิ่น”

1 ก.ค.65 เราคนไทยสามารถใช้ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ แม้โควิด-19 ยังคงอยู่ และในอนาคตอันใกล้นี้จะอยู่กับเราในฐานะ “โรคประจำถิ่น”

นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 นี้เป็นต้นไป เราคนไทยสามารถใช้ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ แม้โควิด-19 ยังคงอยู่ และในอนาคตอันใกล้นี้จะอยู่กับเราในฐานะ “โรคประจำถิ่น”

เนื่องจาก ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป ส่งผลให้ “ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19” เมื่อมีผู้เจ็บป่วยจากโควิด-19 จะเน้นมาตรการเจอแจกจบ โดยรักษาพยาบาลตามสิทธิ เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีอาการป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วจำเป็นต้องส่งตัวรักษาในโรงพยาบาล ใช้ระบบประเมินแล้วส่งต่อ

และเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.65 ราชกิจจานุเบกษา ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เรื่องของการ “ถอดแมสก์” ซึ่งระบุว่า การผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนสามารถดําเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติยิ่งขึ้น จึงสมควรผ่อนคลายข้อจํากัด ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ

ดังนั้น วันนี้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่สวมหน้ากาอนามัยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และข้อกำหนดหรือข้อตกลงในสถานที่นั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้การสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย จะเป็นสิทธิของเรา แต่ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังคงอยู่ในระดับหลักพันตลอดเดือนที่ผ่านมาจนวันนี้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนว่า “โควิดยังอยู่ แต่เราพร้อมไปต่อ ทำยังไงดี” ซึ่งเป็นข้อมูลอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างสบายใจ เช่น

-สวมหน้ากากเมื่อไม่สบาย หรือต้องไปในที่แออัด เพราะการสวมหน้ากากช่วยป้องกันโควิด-19 และโรคติดเชื้อทางอากาศอื่น ๆ

-เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร จากคนอื่น ๆ หากทำได้ เนื่องจากโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่ติดเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน

-ใช้ช้อนกลางเมื่อกินข้าวร่วมกับผู้อื่น ป้องกันโรคติดต่อทางน้ำลาย

-ล้างมือก่อนกินข้าว และล้างมือเมื่อกลับถึงบ้าน เนื่องจากบนมือมีเชื้อโรคหลายพันชนิด การล้างมือช่วยป้องกันโรคทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารได้

-ตรวจ ATK เมื่อรู้สึกไม่สบายมีอาการผิดปกติ

-ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำแพทย์

ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเราใช้งบประมาณรักษาพยาบาลโควิด-19 ไปแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท และวันนี้ที่เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ถ้าเราดูแลตัวเองดีก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างสบายใจ

คลิปอีจันแนะนำ
หนูดีใจมากค่ะ ได้สอน Coding ให้ลุงตู่