ดื่มให้ดูไปเลย! อธิบดีน้ำบาดาล ยืนยัน “ น้ำพุโซดา ” ดื่มได้ ปลอดภัย

อธิบดีน้ำบาดาล ยืนยัน! “ น้ำพุโซดา ” จากบ่อบาดาล ดื่มได้ ปลอดภัย มีแร่ธาตุสูงกว่าน้ำแร่นอก เร่งเจาะอีก 3 บ่อ ทำโครงการหาน้ำกินน้ำใช้ให้ชาวบ้าน

ดื่มโชว์จะจะ! “ น้ำพุโซดา ” อธิบดีน้ำบาดาล ยืนยัน ดื่มได้ ปลอดภัย

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า จากการที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สำรวจและเจาะพบแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี หรือ น้ำพุโซดา จำนวน 3 แห่ง โดยบ่อน้ำบาดาล 2 แห่ง ที่เจาะพบน้ำบาดาลพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุสูงราว 2-3 เมตร มีรสชาติคล้ายน้ำโซดา สามารถใช้ดื่มกินได้ สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวบ้านและผู้พบเห็น จึงมีการเรียกชื่อชื่อว่า น้ำพุโซดา ขณะนี้ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ น้ำพุโซดา ออกมาแล้ว ปรากฏว่า บ่อ น้ำพุโซดา ที่บ้านทุ่งคูณ บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 น้ำบาดาลมีไบคาร์บอเนตสูง 2,420 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1,870 มิลลิกรัมต่อลิตร ฟลูออไรด์สูงเล็กน้อย 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีเหล็กสูง 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 28 มิลลิกรัมต่อลิตร

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวอีกว่า เป็นความโชคดีที่น้ำบาดาลจากแหล่งน้ำบาดาลห้วยกระเจาไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อนร้ายแรง และจากการตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลทั้ง 2 บ่อ คาดว่าจะสามารถพัฒนาน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จากนั้นได้ให้นักวิทยาศาสตร์ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทดลองกรองน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่เก็บมาจากพื้นที่ ซึ่งมีสีเหลืองขุ่น เพื่อกรองเอาสารละลายเหล็กออก และเพื่อเป็นการยืนยันให้ประชาชนมั่นใจได้ ว่า น้ำพุโซดา สามารถดื่มได้ ท่านอธิบดีน้ำบาดาลก็ได้ทดลองดื่มให้ดูด้วย พร้อมให้ผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวได้ทดลองดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว ซึ่งน้ำดังกล่าวมีความใสสะอาดขึ้น แต่ยังคงรสหวานและไม่มีกลิ่นสนิมเหล็กเลย

อย่างไรก็ตาม อธิบดีน้ำบาดาล ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป้าหมายตามภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดพื้นที่ห้วยกระเจา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำโครงการศึกษา สำรวจ และพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โดยเร่งเจาะอีก 3 บ่อ เพื่อให้ครบทั้ง 6 บ่อ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล