ทำความเข้าใจ หนี้นอกระบบ เงินด่วน ทันใจแต่อาจต้องทำใจ

ทำความเข้าใจ เงินด่วน ทันใจแต่อาจต้องทำใจ กับประเภทหนี้นอกระบบ 7 ประเภท

เงินกู้นอกระบบคืออะไร?

เงินกู้นอกระบบ คือการที่ผู้ให้กู้เงินนั้นไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือว่าไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ว่าง่ายๆ คือเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ที่มาให้เงินคุณ แบบไม่มีระเบียบอะไรที่สามารถบังคับหรือควบคุมคนเหล่านั้นได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา

หนี้นอกระบบ อาจแบ่งประเภทกว้างๆ ตามระยะเวลาการชำระหนี้ได้ 2 แบบ คือ หนี้ ระยะสั้น (หนี้รายวัน) และหนี้ระยะยาว (หนี้รายเดือน/รายปี) แต่ละแบบมีรายละเอียดแตกต่างกัน ประเภทเจ้าหนี้นอกระบบ เมื่อพิจารณาประเภทเจ้าหนี้ พบว่า เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบมีหลายรูปแบบ ที่สำคัญได้แก่

1. เจ้าหนี้ที่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ของลูกหนี้ได้แก่ เจ้าหนี้ที่เป็นญาติหรือคนรู้จัก กลุ่มที่ให้ อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ส่วนมากการกู้เงินไม่ค่อยมีการ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ในกรณีที่ยอดเงินสูงมาก จะมีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โฉนดที่ดิน

2. เจ้าหนี้ที่เป็นนายทุนเงินกู้ มีทั้งนายทุนในพื้นที่และนายทุนที่มาจากพื้นที่อื่น เจ้าหนี้ที่เป็น นายทุนในพื้นที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ร้อยละ 5 บาท ถึง 20 บาทต่อครั้ง ในกรณีที่กู้ยืมวงเงินไม่มากนัก อาจใช้บุคคลค้ำประกัน แต่ในกรณีที่วงเงินสูง ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ชัดเจน เงินกู้ประเภทนี้มักมีปัญหาในเรื่อง “ดอกลอย” กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งจำนวนได้ในคราวเดียวกัน จะสามารถชำระได้เฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น และในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกทำให้ยอดหนี้สูงขึ้น

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย“ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ”เผยผลการศึกษาในปัจจุบันพบว่าสามารถจำแนก ประเภทหนี้นอกระบบ เป็น 7 ประเภท ได้แก่

1. หมวกกันน็อค คือ กลุ่มบุคคลที่ปล่อยเงินกู้โดยแจกใบปลิว นามบัตร หรือติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า แล้วมาเก็บเงินจากลูกหนี้เป็นประจำทุกวัน โดยอาจจะใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้จะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ตามแผงในตลาดหรือร้านอาหารตามสั่ง แหล่งชุมชนหรือย่านเศรษฐกิจที่เข้าถึงได้ง่าย

2. ดอกเบี้ยเกินอัตรา คือ ตกลงกู้ยืมเงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้โดยทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่ดอกเบี้ยเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด กำหนดเวลาการชำระส่วนใหญ่จะเป็นรายเดือน

3. กู้ออนไลน์ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภท เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ แอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างได้รับความนิยมในขณะนี้ โดยหากลูกหนี้ไม่จ่ายเงินก็จะประจานผ่านสื่อออนไลน์

4. จำนำรถ ด้วยการทำสัญญากู้เงินโดยลูกหนี้ต้องนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปจอดไว้กับเจ้าหนี้ไว้เป็นหลักประกัน

5. ขายฝากที่ดิน ลูกหนี้นำที่ดินมาขายฝากตามกฎหมายแต่สัญญาไม่เป็นธรรม และสุดท้ายจะยึดที่ดิน

6. การจดจำนองที่ดิน ด้วยการจดจำนองตามกฎหมายแต่คิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าดำเนินการในอัตราที่สูง จนไม่สามารถผ่อนได้

7. วางหลักประกัน ด้วยการให้ลูกหนี้นำเล่มทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือโฉนดที่ดินไปวางค้ำประกันไว้กับเจ้าหนี้ แต่ไม่ได้ทำธุรกรรมทางทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยการโอนทะเบียนไว้ล่วงหน้า (โอนลอย) สุดท้ายก็จะยึด โดยนำเอกสารที่โอนลอยไว้ไปดำเนินการตามขั้นตอนและยึดทรัพย์ไป

ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการคดีได้ คือ

1) บางครั้งผู้แจ้งเบาะแสไม่มาแจ้งความในฐานะผู้กล่าวหา และ

2) การขอข้อมูลจากสถาบันการเงินเพื่อประกอบการออกหมายจับ ซึ่งจากการวิเคราะห์แนวโน้มของหนี้นอกระบบและพื้นที่เกิดเหตุ พบว่า ในปี 63 เรื่องที่รับแจ้งมากเป็นลำดับที่ 1 คือ ดอกเบี้ยเกินอัตรา แต่ต่อมาในปี 64 – 65 เรื่องที่รับแจ้งเป็นอันดับที่ 1 คือ “การกู้ออนไลน์”