ประวัติพระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร พระคู่บ้านคู่เมือง ฉะเชิงเทรา

ประวัติพระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร พระคู่บ้านคู่เมือง ของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นที่รู้จักเคารพบูชาของประชาชนทั้งหลาย

โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพและข้อความ องค์หลวงพ่อโสธร ที่ถูกลอกผิวทองออกทั้งหมด จนเห็นสีผิวของเนื้อจริงพระด้านใน เพื่อการบูรณะใหม่โดยกรมศิลปากร ที่บริเวณภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา วันนี้เลยอยากพามารู้จัก ประวัติ ตำนาน และงานพุทธศิลป์ พระพุทธโสธร

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. มีประกาศทางวัดวัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการอนุรักษ์บูรณะหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม วรวิหาร จึงทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำหน้าที่ควบคุมงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 และดำเนินการแล้วเสร็จ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน อนึ่ง การกราบไหว้ สักการะหลวงพ่อโสธร สามารถสักการะได้ตามปกติประกาศ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2565

ประวัติ ตำนาน และรูปแบบทางพุทธศิลปกรรม

พระพุทธโสธร หรือที่โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโสธร ตามประวัติความเป็นมากล่าวว่าประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2313 มีตำนานแสดงถึงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่าเดิมทีนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมามีผู้เล่าสืบ ๆ กันมาหลายกระแส สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้รับฟังมาจากบรรพบุรุษเล่าให้ฟังว่า “หลวงพ่อโสธร” ลอยน้ำมามีพระพี่น้อง 3 องค์ อยู่ทางเมืองเหนือแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ล่องลอยมาตามแม่น้ำจากทางทิศเหนือ เรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ในที่สุดมาผุดขึ้นใน แม่น้ำบางปะกง ณ ที่ตำบลหนึ่ง และแสดงปาฏิหาริย์ลอยทวนกระแสน้ำให้ประชาชนเห็นทั้ง 3 องค์ ประชาชนแถบนั้นต่างพร้อมใจกันอาราธนาเอาเชือกลงไปผูกมัดที่องค์ หลวงพ่อทั้ง 3 แล้วช่วยกันฉุดลากขึ้นฝั่งด้วยจำนวนผู้คนประมาณ 500 กว่าคนก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เชือกขนาดใหญ่ที่ผูกองค์หลวงพ่อทั้ง 3 ก็ขาดฉุดไม่สำเร็จตามความประสงค์

ครั้นแล้วหลวงพ่อทั้งสามองค์ก็จมน้ำหายไปต่อหน้าคนทั้งหมด สถานที่พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ลอยทวนน้ำมานั้นเลยได้ชื่อว่า “ตำบลสามพระทวน” แต่ต่อมากลับเรียกว่า สัมปทวน ได้แก่แม่น้ำหน้าวัดสมปทวน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้ ต่อจากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ก็ล่องลอยตามแม่น้ำบางปะกง เลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร แสดงอภินิหารผุดขึ้นให้ชาวบ้านบางนั้นเห็น ชาวบ้านได้ช่วยกันอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งทำนองเดียวกันกับชาวสัมปทวน

แต่ก็ไม่สำเร็จหมู่บ้านบางนั้นจึงได้ชื่อว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ล่องลอยทวนน้ำขึ้นมาถึงและลอยวนอยู่ที่หัวเลี้ยว ตรงกองพันทหารช่างที่ 2 ปัจจุบัน สถานที่พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์มาลอยวนอยู่นั้นจึงเรียกกันว่า แหลมหัววน และได้จมน้ำหายไปหลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่ ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ ลอยไปผุดขึ้นที่ลำน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ประชาชนชาวประมงอาราธนาขึ้นได้ และประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ที่วัดบ้านแหลมเราเรียกว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

ทุกวันนี้เป็นที่บูชานับถือกันว่าเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ทัดเทียมกับหลวงพ่อ โสธร ส่วนองค์สุดท้องได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ลอยล่องไปผุดขึ้นที่ปากคลองสำโรง ชาวบ้านแถบนั้นได้อาราธนาขึ้นแพใช้เรือพายลากจูง ทั้งอธิษฐานว่าจะขึ้นเป็นมิ่งขวัญที่ใด ก็ขอให้แพนั้นจงหยุดอยู่กับที่ แล้วล่องมาตามลำคลองแพนั้นก็มาหยุดอยู่หน้าวัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบางพลีก็ได้อาราธนาอัญเชิญขึ้นประดิษฐานอยู่ทีวัดบางพลีใหญ่ใน เรียกว่า “ หลวงพ่อโต ” ก็ปรากฏว่ามีผู้คนเคารพเลื่อมใสมากมายทัดเทียมกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และหลวงพ่อโสธร

ส่วนพระพุทธรูปองค์กลาง คือ หลวงพ่อโสธร เมื่อลอยตามน้ำมาจากหัววนดังกล่าวแล้ว ก็มาผุดขึ้นที่ท่าหน้าวัดโสธร กล่าวกันว่าประชาชนจำนวนมากทำการฉุดลากขึ้นโดยได้มีอาจารย์ผู้มีความรู้ทาง ไสยศาสตร์กระทำตามพิธีการอันถูกต้อง แล้วเอาด้ายสายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์หลวงพ่อโสธรอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง นำมาประดิษฐานในวิหารสำเร็จตามความประสงค์ แล้วก็จัดให้มีการฉลองสมโภช และให้นามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อโสธร องค์หลวงพ่อโสธรจริง ๆ นั้นในสมัยที่ลอยน้ำมา เดิมเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชร หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเห็นว่ากาลต่อไปภายหน้าคนที่มีตัณหาและความโลภแรงกล้า มีอัธยาศัยเป็นบาปลามกไม่มีความศรัทธาเลื่อมใส จักนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจะไม่เป็นการปลอดภัย จึงพอกปูนเสริมให้ใหญ่หุ้มองค์จริงไว้ภายในดังปรากฏที่เห็นในปัจจุบันนี้

ด้านพุทธศิลป์

พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว หรือ 165 เซนติเมตร สูง 198 เซนติเมตร พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่ง พระเนตรเล็กและเหลือบลงต่ำ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นทรงสูง สัดส่วนพระอุระค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับพระเพลาที่ดูกว้าง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นสองชายคล้ายเขี้ยวตะขาบ ด้วยลักษณะสำคัญเช่น พระพักตร์ พระเศียร พระรัศมี รูปแบบชายสังฆาฎิ และเทคนิคการสร้างอ้างอิงจากการอนุรักษ์ครั้งสำคัญราวปี พ.ศ. 2543 โดยกรมศิลปากร

ซึ่งมีนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการบูรณะในขณะนั้น พบว่าพระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินทรายแยกเป็นชิ้นรวมจำนวน 11 ชิ้น นำมาประกอบเข้าด้วยกันและลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้น ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร ได้กำหนดรูปแบบเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 สมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20

ทั้งนี้ ด้วยความสำคัญของประวัติ ความเป็นมา รูปแบบอายุสมัย ตลอดจนความเชื่อ ความศรัทธาของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และพุทธศาสนิกชนไทย ในฐานะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 เล่มที่ 109 ตอนที่ 147 น 8

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อธิบายประเด็นนี้ไว้ในหนังสือเรื่องพระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ว่า เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปจากหินทรายหลายชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วพอกปูนทับเช่นนี้ เป็นวิธีการสร้างที่พบมากในสมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้นจึงทำให้คาดได้ว่า หลวงพ่อโสธรน่าจะสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับพุทธศิลป์ของหลวงพ่อโสธรที่มีรูปแบบเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป นั่นคือ พระพักตร์เคร่งขรึม สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่และยางลงมาจรดพระนาภี ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร

งานนมัสการหลวงพ่อโสธร

ทางวัดวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีงานเทศกาลฉลององค์หลวงพ่อปีหนึ่งมีสองครั้ง คือ

1. งานเดือน 5 เรียกว่างานกลางเดือน 5 เริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น 14-15 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 รวม 3 วัน

2. งานเดือน 12 เรียกว่างานกลางเดือน 12 เริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 รวม 5 วัน

คำอาราธนาหลวงพ่อโสธร

กายานะ วาจายะวะ วาโสธะรัง นามะ อิติปาริหะ ริยะกาง

พุทธธะรูปัง อะหังปิ วัณทามิ สัพพะโส

ข้อมูล : กรมศิลปากร , ทำเนียบพระเครื่อง , สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ,เพจเฟซบุ๊ก วัดโสธรวราราม วรวิหาร

คลิปอีจันแนะนำ
กู้ภัยใจเด็ด ปะทะ ตัวเงินตัวทองยักษ์