ฟังความเห็นคุณครู ต่อปัญหา การเรียนของนักเรียน ต่อการสอนออนไลน์

ฟังเสียงคุณครู ต่อปมปัญหา การเรียนการสอนออนไลน์ คนสอน นักเรียน ต้องเดินไปด้วยกัน ขอสังคมให้ความเข้าใจ

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 และระลอกใหม่ ช่วงธันวาคม 2563 วงการการศึกษา ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะโรงเรียนต่างๆต้องหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และมีการใช้แผน การเรียนการสอนออนไลน์ มาเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาหยุดเรียนนั้น
และปัญหา ก็เริ่มก่อตัวขึ้น มีการพูดกันว่า การเรียน การสอน ออนไลน์ นั้น ไม่ดี ไม่เหมาะสม ให้การบ้าน นักเรียนจำนวนมาก เด็กไม่สามารถทำทัน
ปัญหามันมีมากมายขนาดนั้นจริงหรือ?

นายสัญชัย กรอบมุข ครู คศ.1 โรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล” ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นครูคนหนึ่ง ที่ต้องทำหน้าที่สอนนักเรียน ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับครูอาจารย์ทั่วประเทศ ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด
และต้องการที่อยากจะ สะท้อนความคิดเห็น ต่อกระแสที่ว่า การเรียนออนไลน์ ไม่ดีกับเด็กนักเรียน
ต่อคำถามแรก ที่ยิงทันทีว่า สรุปแล้ว การเรียนการสอนออนไลน์ มันดีไหม และทำไมมีนักเรียนบอกว่า การเรียนออนไลน์ มันหนักเกินไป และไม่ดี อ.สัญชัย ตอบว่า ในเรื่องของการเรียนการสอนออนไลน์นั้น ส่วนตัวก็อยากจะอธิบายกับผู้เรียน ในเรื่องของการเรียนออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะอาจจะมีนักเรียนบางกลุ่ม ที่มีความรู้สึกว่าไม่อยากเรียนออนไลน์ ในส่วนตัวของตนนั้น ไม่ได้มีความคิดที่รู้สึกว่าอยากจะทำการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพราะส่วนตัวของตนนั้น อยากที่จะทำการสอนโดยที่มีนักเรียนอยู่ในห้องเรียน และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆที่คุณครูผู้สอนได้ออกแบบไว้ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ได้บีบบังคับให้ทุกๆคน ต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ที่จะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของความปลอดภัยด้านสุขภาพของตนเอง แม้บางคนอาจจะมีความคิดว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด ไม่น่ากังวลมากเพราะเป็นแล้วก็หายบางคนติดเชื้อก็ใช้เวลาไม่นานก็รักษาหายและไม่ได้มีการเสียชีวิตอย่างที่กังวลกัน

อ.สัญชัย อธิบาย ต่อไปว่า แล้วเรื่องของการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้น แม้จะได้รับกระแสการต่อต้านหรือคัดค้านบ้าง บางคนอาจจะรู้สึกว่าคุณครูผู้สอนให้งานเยอะ แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคุณครูแล้ว คุณครูผู้สอนทุกๆท่าน ต้องคำนึงแล้วว่า นักเรียนนั้นจะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ แล้วก็สามารถยืดหยุ่นเวลาการส่งงานกันได้ ไม่ได้หมายความว่าสั่งวันนี้ แล้วชั่วโมงถัดไปจะต้องขอการบ้านทันที อาจจะยืดระยะเวลา เป็นช่วงอาทิตย์หน้าก็เป็นได้
“เพราะคำนึงว่าตัวเด็กหรือตัวนักเรียนนั้นไม่ได้เรียนวิชาเพียงวิชาเดียวเท่านั้นแต่ในขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับการเรียนการสอนปกติคุณครูเจ้าของรายวิชาก็จะให้การบ้านเป็นปกติอยู่แล้วหรืออาจจะให้กำหนดเวลาในการส่งงานน้อยกว่าในช่วงที่ต้องมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ด้วยซ้ำเพราะก็จะเป็นไปตามธรรมชาติของรายวิชาต่างๆ” อ.สัญชัย อธิบาย

เมื่อถามไปว่า แล้วการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ มันยากง่ายอย่างไร อ.สัญชัย บอกเล่าว่า คุณครูเจ้าของรายวิชาแต่ละท่านก็จะคำนึงแล้วว่า การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้น จะไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้เต็มที่แบบปกติได้ เพราะจะมีอุปสรรคหรือปัญหาต่างๆเข้ามาบั่นทอน ไม่ว่าจะเป็นระบบในการใช้เพื่อทำการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม meet โปรแกรม zoom หรือ application ต่างๆ อยู่ในห้องเรียนปกติ ตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ ตรงนี้ก็ต้องมาคำนึงกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้บทเรียนหรือการเรียนการสอนเดินหน้าต่อไปได้ ตามตัวชี้วัดและหลักสูตรของโรงเรียนนั้นๆ รวมทั้งหลักสูตรของแก่นกลางก็คือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้สำเร็จตามเป้าหมาย

โดยครูผู้สอนก็จะมีแผนการเรียนรู้ ก็จะต้องมีการนำมาปรับแล้ว ต้องไม่ลืมว่าการสั่งงานหรือการบ้านไปนั้นมันก็จะต้องย้อนกลับมาหาตัวครูผู้สอนหรือผู้สั่งการบ้านนั้นๆด้วย เพราะการตรวจงานนั้น ก็มีความสำคัญไม่แพ้กับการสั่งงานเช่นเดียวกันเพราะการสั่งงานแต่ละครั้งเราต้องคำนึงว่าตัวนักเรียนหรือตัวเด็กจะได้เนื้อหาความรู้หรือคอนเทนต์อะไรบ้างและจะได้กระบวนการการพัฒนาอะไรบ้าง

ทำไมต้องให้นักเรียน ทำงานส่งเป็นหน้ากระดาษอีก ในเมื่อเรียนกันผ่านออนไลน์ อ.สัญชัย ตอบคำถามนี้ว่า คำถามแต่ละข้อที่จะสอบถามนักเรียนในแต่ละประเด็นนั้น มันจะสอดคล้องกับตัวชี้วัดหรือไม่ และตัวร่องรอยหลักฐานใดที่จะสามารถเป็นตัวชี้วัด ในการเก็บคะแนนของนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันงาน 1 ชิ้นนั้น เด็กนักเรียนจะต้องใช้การสร้างงานหรือองค์ความรู้ของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานหรือจะเป็นแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบใดๆก็แล้วแต่ มันจะกลับย้อนมาในรูปของหน้ากระดาษเพื่อให้เป็นร่องรอยหลักฐานสำหรับให้อาจารย์ผู้สอนได้เก็บคะแนน
งาน 1 ชิ้นในการสั่งไปนั้น นักเรียนอาจจะทำมาจำนวน 3 หน้ากระดาษ นักเรียนถ่ายภาพแล้วส่งกลับมาหาอาจารย์ผู้สอนในโปรแกรมแอปพลิเคชันต่างๆ ของคุณครูผู้สอน ซึ่งคุณครูผู้สอน ก็จะต้องบริหารจัดการ ในการตรวจสอบการบ้านของนักเรียน เพื่อให้เกิดความละเอียดในการตรวจสอบการบ้านนั้นๆ กับเวลาที่มีอยู่แล้วในการตรวจสอบแบบออนไลน์นั้นโดยครูผู้สอนแต่ละท่านก็จะใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เพื่อทำการตรวจสอบการบ้าน ของนักเรียน และจะนำข้อชี้แนะต่างๆ หรือ คำชื่นชมนั้นตอบกลับไปในระบบการเรียนการสอน

“ลองคำนวณว่า การรับตรวจการบ้านนักเรียนนั้น หากมองในโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ อาจารย์หนึ่งท่าน อาจจะต้องมีการสอนนักเรียนถึงจำนวน 5 ห้องเรียน2 ระดับชั้น อาจจะมีจำนวนนักเรียน 200 คนแล้วทุกคนส่งงานจำนวน 3 แผ่นแล้วอาจารย์ผู้สอนท่านนั้นๆ จะต้องทำการตรวจกระดาษส่งงานทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้หมายความว่าคุณครูมีงานน้อยกว่านักเรียน แต่คุณครูเอง ก็ต้องทำงานของตนเองเช่นกัน ไม่สามารถมีเวลาไปเที่ยวเตร็ดเตร่ที่ไหนได้ และตัวคุณครูเองนั้น ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กฎกติกาต่างๆ ที่คุณครูไม่สามารถไปไหนได้จะต้องอยู่กับการเรียนการสอน25% คุณครูแต่ละท่านจะต้องหมุนเวียนสลับกันมาประจำการที่โรงเรียนของตนเอง แล้วสัดส่วนเวลาที่เหลือนั้นก็จะมานั่งจัดการเรียนการสอนและตรวจงานของนักเรียนทุกๆคนทำการวินิจฉัยทำการตรวจข้อสอบและร่วมแก้ปัญหาให้กับนักเรียน” อ.สัญชัย อธิบาย
เมื่อถามถึงการแสดงความคิดเห็นในแง่ลบ ต่อการเรียนการสอนออนไลน์นั้น อ.สัญชัยบอกว่า ส่วนตัวของตนเองนั้น ได้เห็นข้อความ ในการทวิตบนทวิตเตอร์ รวมทั้งคอมเมนต์ต่างๆใน facebook ตนเข้าใจว่าไม่มีใครอยากจะเรียนในสถานการณ์หรือสภาวะแบบนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า ณ ปัจจุบันนี้ทุกคนตกอยู่ในสถานะและสภาวะเดียวกันทั้งหมด และเราต้องไปต่อเดินหน้าการเรียนการสอนต่อไป

ในส่วนของการวินิจฉัยสิ่งที่มีระดับมากขึ้นไปนั้น ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจหรือมีระดับที่สูงขึ้นไป ที่จะมีการวินิจฉัย หรือ ออกแบบหรือออกคำสั่งใดๆก็ตาม ที่จะให้ทางคุณครูปฏิบัติตาม แล้วทางคุณครู ก็จะนำมาออกแบบการเรียนการสอน การปฏิบัติการจริงในห้องเรียนต่อไป