มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯ ประกาศผ่อนคลาย สวมแมสก์ตามความสมัครใจ

เว็บไซต์ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนดมาตรการผ่อนคลาย หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ให้สวมแมสก์ตามความสมัครใจ

24 มิ.ย. 65 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 46) โดยมีใจความ ดังนี้…

โดยที่สถานการณ์การระบาดของ โควิด ปัจจุบันได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จนสามารถผ่อนปรนบรรดามาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคม ได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงกำรผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ จากเดิมที่เคยกำหนดเป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน โดยปรับให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศ

การดำเนินการตามแผนและมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหลายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic ที่จะประกาศให้เป็นโรคติดต่อทั่วไป ในการนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นสมควรพิจารณาปรับลดระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการคงดำเนินมาตรการที่จำเป็นสำหรับป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนำให้ประชาชน ดังนี้

-เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี

-เป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อ โควิด จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม 608) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

-เป็นผู้ติดเชื้อ โควิด หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น

ข้อ 4 การผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทางของแรงงานต่างด้าว ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากขึ้นให้ผู้ว่าราชการ กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยให้การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัดสามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดตามปกติ

ข้อ 5 แนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ปรับปรุงแนวปฏิบัติการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อรองรับกับมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศไว้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ ศบค. ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

ข้อ 6 การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง ให้พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ หรือ กิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565 และข้อ 3 แห่งข้อกำหนด

(ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยให้ปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

ดังนี้

(1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและการบริโภคสุรา หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ

(2)สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถปิดให้บริการได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ

ข้อ 7 มาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวัง การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กรณีการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่าสองพันคนให้ผู้รับผิดชอบแจ้งการจัดกิจกรรมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวัง และกำกับติดตามมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คลิปอีจัน แนะนำ