รมช. กลาโหม แจง ไม่เคยใช้อาวุธรุนแรงกับผู้ชุมนุม

รมช. กลาโหม แจง เจ้าหน้าที่ ไม่เคยใช้ อาวุธรุนแรง กับ ผู้ชุมนุม ระบุ นายกฯ เน้นย้ำ ให้ ยึดถือกฎหมาย

วันนี้ (18 พ.ย. 64) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา เรื่อง มาตรการที่รัฐต้องดูแลผู้ชุมนุม ภายใต้กฎหมายที่ผู้ชุมนุมสามารถแสดงออกทางความคิดได้ เป็นการกระทำตามมาตรฐานสากลหรือไม่ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล จะต้องกระทำตามมาตรการอย่างไรบ้าง ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงแทน

โดยนายประเดิมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้ชุมนุม จะเห็นภาพความสูญเสีย ความเสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ออกมาชุมนุม เหมือนไม่ใช่คนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจากการใช้อาวุธที่สร้างความเสียหาย บาดเจ็บ ล้มตาย แต่นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ เช่น กรณีที่เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ร่วมการชุมนุม ถูกยิงบริเวณหน้า สน.ดินแดง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา, เหตุผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. เป็นต้น ทั้งที่ผู้ชุมนุม ต่างชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม กลับสร้างความเสียหายต่อประชาชน และยังไม่มีการแสดงตัวออกมารับผิดชอบ หรือชี้แจงว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ รวมทั้งทำไมจึงไม่จัดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะผู้บัญชาการเหตุการณ์ว่ามีวุฒิภาวะ และเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งตนมองว่า หากไม่ต้องการให้ปัญหานี้เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาคืนความสุขให้ประชาชน โดยจะลาออกหรือยุบสภา แล้วทำให้เหตุการณ์สงบก็แล้วแต่นายกรัฐมนตรี

ด้านพลเอกชัยชาญ ชี้แจงว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่ปัจจุบันประเทศเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนมาตรการดูแลผู้ชุมนุม หากผู้ชุมนุมออกมาโดยสงบ การดำเนินการจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางครั้งไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวธ มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ สร้างสถานการณ์ ทำลายทรัพย์สินของรัฐ เจ้าหน้าที่ได้รับนโยบายให้อดทน อดกลั้น โดยนายกฯ เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้ยึดถือกฎหมายที่มีอยู่ และปฏิบัติตามหลักสากลเป็นหลัก ระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อประชาชน ที่สำคัญต้องไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ นำไปสู่ความรุนแรง และเกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หากต้องใช้ต้องให้เกิดผลกระทบกับผู้ชุมนุมน้อยที่สุด การดำเนินการเมื่อ 14 พ.ย. ผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทางตร.ได้สั่งให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เร่งพิสูจน์ทราบโดยเร่งด่วน ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายว่า การบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นอย่างไร ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบ แต่กิจกรรมไหนที่ก่อความรุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่

ในส่วนของการเยียวยา พลเอกชัยชาญยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แฟลตดินแดงว่า ตร.ได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนมากกว่า 7 ครั้ง เพื่อรับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขลดผลกระทบ พร้อมเยียวยาซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บหรือเสียหาย สามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมายเรื่องสิทธิที่พึงได้รับ ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลประชาชนที่ไดรับผลกระทบ รวมถึงผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
แต่งเมียได้ เพราะไม้ด่าง