รัฐฯ ไม่หวั่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง เร่ง พัฒนาชุดตรวจ มั่นใจเพิ่มรายได้

รัฐบาล ไม่หวั่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง เร่งพัฒนาชุดตรวจ คล้ายการตรวจ ATK เดินหน้าแผนจัดการแบบครบวงจร มั่นใจเกษตรกรรายได้เพิ่ม ส่งออกมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 ปี

รัฐบาลไม่หวั่นโรคใบด่างมันสำปะหลัง พัฒนาชุดตรวจแบบ ATK เดินหน้าแผนจัดการแบบครบวงจร มั่นใจเกษตรกรรายได้เพิ่ม ส่งออกมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 ปี

วันนี้ (13 มิ.ย. 65) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีจำนวนมาก และเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ มีการส่งออกมากเป็นอันดับสามของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ เฉลี่ยหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 และราคามันสำปะหลังเพิ่มสูงกว่าราคาประกันรายได้ ที่ 2.50 บาท/ก.ก. ล่าสุดขยับขึ้นไปสูงถึง 2.70 และ 2.92 บาท/ก.ก ทั้งนี้ ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้ รัฐบาลยังได้เห็นชอบแผนการจัดการ กับโรคใบด่างระยะ 5 ปี (2566-2570) ต่อจากแผนเดิม ซึ่งโรคนี้เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2561 และได้ก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก ขณะนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว คล้ายกับการตรวจ ATK โดยใช้กับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการทราบผลได้ภายใน 15 นาที

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการโรคใบด่างทั้งระบบ แบบครบวงจร โดยแผนการจัดการกับโรคใบด่างระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 6 มาตรการ คือ

1.การสร้างการรับรู้เรื่องโรคใบด่าง

2.เฝ้าระวังและป้องกัน

3.ควบคุมการระบาด

4.ให้ความช่วยเหลือ

5.การทำวิจัยพัฒนา

6.มาตรการติดตามประเมินผล

สำหรับการวิจัยและพัฒนา ทางสวทช. ได้พัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างอย่างรวดเร็ว สามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น mini-stem cutting หรือ tissue culture นอกจากนี้ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค หลังการเพาะปลูก เพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ก่อนส่งมอบให้เกษตรกร ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด

ในส่วนของการควบคุมโรค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่าง ซึ่งนับตั้งแต่ปี ธ.ค.2563-มี.ค 2565 สามารถกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในพื้นที่ระบาด 6.5 หมื่นไร่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นเป็นโรคให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง 5,249 ราย มีการจัดส่งท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 25 ล้านลำ ครบถ้วนตามความต้องการของเกษตรกร

ผลสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ส่งผลให้มันสำปะหลังที่มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศ 9.4 ล้านไร่ ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศไทย ซึ่งในปี2564 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปริมาณสูงถึง 10.38 ล้านตัน มูลค่า 1.23 แสนล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 45% และ 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 มากไปกว่านั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมมันสำปะหลังด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model : Bio – Circular – Green Economy) ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูป (มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบและแป้งดัดแปร) และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (สารให้ความหวาน แอลกอฮอล์ กรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กระดาษและสิ่งทอเป็นต้น) ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างมาก ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของผลผลิตจะถูกใช้ในการแปรรูปเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

คลิปอีจันแนะนำ
ปิดฉากรัก ครูหนิงหายกลายเป็นศพ