ศธ. หารือ เร่งแก้ปัญหา หนี้ครู พบ หนี้สิน กว่า 1.4 ล้านล้านบาท

ศธ. หารือ วาง 4 มาตรการ เร่งแก้ปัญหา พบครูมาลงทะเบียน 8,000 คน รวม หนี้ครู กว่า 1.4 ล้านล้านบาท

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และประกาศว่า ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดูแลแก้ไขปัญหานี้สินประชาชนรายย่อย ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่า ครูมีหนี้สินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท มีครูที่เกษียณอายุ และครูที่ยังสอนอยู่กว่า 900,000 คน สร้างความกังวลให้ครู และครอบครัว จึงอยากสร้างขวัญกำลังใจให้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ครูมีทางออก และมีกำลังใจในการทำงานและพัฒนาการศึกษา ศธ.จึงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ. มีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน และมีนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ.ดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ

โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหานี้สินของครูฯ ออก 4 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เฟสแรก ดังนี้

1.ลดดอกเบี้ย โดยเปิดโครงการแก้ไขปัญหานี้สินครู ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วม ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% แต่พบว่ามีสหกรณ์ 11 แห่ง ปรับลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% แล้ว มีครูที่ได้รับประโยชน์กว่า 460,000 คน และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเฟสถัดไป

2.นายสุพัฒนพงษ์เป็นตัวกลางประสานขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มครู ซึ่งมีครูได้รับประโยชน์กว่า 25,000 คน และเนื่องจากครูมีหนี้หลายด้าน ระบบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยังไม่เป็นระบบที่เชื่อมโยง ศธ.จึงร่วมมือกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อจัดสร้างระบบ และเชื่อมโยงหนี้รายบุคคลทุกด้าน เพื่อทราบข้อมูลว่าครู 1 คน มีหนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน

3.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ ระดับเขต และระดับจังหวัด เข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างนี้ นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะดูระเบียบต่างๆ ว่านำเงินบําเหน็จตกทอดต่าง ๆ มาลดเงินต้น หรือลดหนี้ได้หรือไม่ หรือจะนำเงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มาใช้เป็นตัวค้ำประกันหนี้ได้หรือไม่

4.ให้ความรู้ด้านการเงินให้ครูฯ โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ความรู้ เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงินได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศธ.เปิดให้ครูมาลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้สิน มีครูเข้ามาลงทะเบียน 7,000-8,000 คนแล้ว ต่อไป ศธ.จะจัดทำ แบ่งแยกข้อมูล เพื่อช่วยเหลือต่อไป ยอมรับว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง แต่มีข้อระเบียบต่างๆ ซึ่ง ศธ.อยู่ระหว่างแก้ไข ปลดล็อก เพื่อแบ่งเบาแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
จดแจ้งคู่รัก ครั้งแรกของไทย!