ศาลปกครองเพชรบุรี พิพากษาคดีอุทธรณ์ ชัยวัฒน์ชดใช้เผาบ้านกะเหรี่ยง

“ปฏิบัติการเพราะเป็นพื้นที่พิเศษ” ศาลปกครองเพชรบุรี พิพากษาคดีอุทธรณ์ ชัยวัฒน์ชดใช้เผาบ้านกะเหรี่ยง เหลือจ่ายแค่หลักหมื่น

จากเหตุ ยุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4 ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานฯ ขณะนั้น ได้ทำการเผาเพิงพักร้างของชาวกะเหรี่ยง เพื่อเป็นการผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงลงไปอาศัยอยู่ในที่ที่รัฐจัดสรรให้ ไม่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ต่อมามีชาวกะเหรี่ยงได้ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ว่ายุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4 นั้น มีการเผาทำลายบ้าน ปู่คออี้ มีมิ ผู้เฒ่าของชาวกะเหรี่ยงด้วย และอีกหลายบ้านได้รับความเสียหาย

ซึ่งต่อมาการฟ้องร้องและสิ้นสุดลงที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ให้กรมอุทยานฯ ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนายโคอิหรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 300,987 บาท และต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯ มีคำสั่งให้ นายชัยวัฒน์ฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวนเงิน 300,987 บาท แก่กรมอุทยานฯ นายชัยวัฒน์จึงสู้คดีด้วยการการอุทธรณ์ ฟ้องต่อ ศาลปกครองเพชรบุรี

กระทั่งเมื่อวานนี้(24 ส.ค. 64) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองเพชรบุรี นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 148/2562 ที่มีนายชัยวัฒน์ฯ เป็นผู้ฟ้องคดี ต่อ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 , อธิบดีกรมอุทยานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และ รองปลัดกระทรวงทรัพฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 โดยสรุปคำพิพากษา ได้ดังนี้

แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.22 จริง จนทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่อย่างไรก็ตามก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิหรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ตั้งอยู่ในป่าลึกที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใกล้แนวชายแดนประเทศไทย-สหภาพเมียนมาร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หากเดินเท้าต้องใช้ระยะเวลาการเดินเท้าเข้าไปไม่น้อยกว่า 3-4 วัน ไม่สามารถใช้ยานพานะสัญจรไปมาได้ ซึ่งในการตรวจสอบพบพื้นที่บุกรุก ณ ขณะนั้นผู้ฟ้องคดีและคณะเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มบุคคลใด หรือเป็นชนกลุ่มน้อย หรือเป็นของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือเป็นผู้ลักลอบเข้ามาปลูกพืชสารเสพติด ทำให้การสืบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษมีข้อจำกัดทางด้านของสภาพพื้นที่ ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นว่าคำสั่งทางปกครองในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ อาจทำโดยวาจาหรือในรูปแบบอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือปิดประกาศเสมอไป ตามนัยมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

นอกจากนั้น หากผู้ฟ้องคดีและคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ฟ้องคดีและคณะเจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ในการเข้าไปปิดประกาศคำสั่งหรือปิดประกาศแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุกพื้นที่ที่เกิดเหตุหรือถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานฯ อีกด้วย เนื่องจากอาจมีกลุ่มผู้ลักลอบผลิตและขนยาเสพติดหรือกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่อาศัยสภาพป่ารกทึบและสภาพอากาศปิดในการอำพรางตัว เข้าทำการโจมตีคณะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมสนธิกำลังไปปฏิบัติงานครั้งดังกล่าวได้ ด้วยมีข้อมูลว่าในพื้นที่ที่เข้าปฏิบัติงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุการณ์ประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนกับกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจกวาดล้างปัญหายาเสพติดในพื้นที่ทำให้เจ้าหน้าที่บางรายได้รับบาดเจ็บและบางรายเสียชีวิต โดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ว่าไม่เป็นความจริง

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่ที่ต้องกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนรัดกุมและสอดคล้องกับการดำเนินการตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่หรือสถานการณ์พิเศษในกรณีเช่นนี้ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้โดยเคร่งครัด และถึงแม้จะปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้วบางประการก็ตาม แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากเกิดเหตุพิพาทแล้ว อีกทั้ง หากนำไปถือปฏิบัติในสถานการณ์พิเศษที่ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ประสบพบเจอดังกล่าวข้างต้น ก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถนำไปปฏิบัติในสภาพพื้นที่อันยากลำบากดังกล่าวได้สมบูรณ์ครบถ้วน

หากพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่และสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแล้วเห็นว่า ก่อนผู้ฟ้องจะเข้าปฏิบัติการภารกิจ “ยุทธการตะนาวศรี” ผู้ฟ้องคดีได้พยายามใช้วิธีการประสานกับผู้นำท้องถิ่นในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านบางกลอยล่าง และหมู่ที่ 2 บ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และเป็นที่อยู่ของนายโคอิฯ กับพวกรวม 6 คนด้วย เพื่อให้ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งคำสั่งให้ผู้ที่กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.อช. 2504 ยุติการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยุติการปลุกพืชเสพติด และให้หรือถอนหรือทำลายเพิ่งพักหรือสิ่งปลูกสร้างที่ผู้กระทำผิดได้ปลูกสร้างไว้ เนื่องจากผู้นำชุมชนในพื้นที่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้อันเป็นการแจ้งคำสั่งทางปกครองด้วยวาจา ตามมาตรา 34 และ 36 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539

แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ระเบียบและกฎหมายได้กำหนด แต่ผู้ฟ้องคดีก็พยายามหาแนวทางวิธีการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้กระทำผิด ยุติการบุกรุก แผ้วทางทำลายป่ายกเลิกการปลูกพืชสารเสพติดและให้รื้อถอน หรือทำลายเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างในบริเวณที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้เข้าหรือถอนเผาทำลายเพิงพักอาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างในทันที อีกทั้งเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิ กับพวกรวม 6 คน ตั้งอยู่ในป่าลึกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใกล้แนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ ในเขต อช.แก่งกระจาน หากเดินเท้าต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าไปไม่น้อยกว่า 3-4 วัน และก่อนการปฏิบัติการฯ มีข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีเหตุปะทะฯ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีพร้อมคณะเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการเข้าทำลายพืชเสพติดและทำลายเพิงพักในบริเวณที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าดังกล่าว โดยไม่นำเอาสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนออกมาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ก็ด้วยต้องรีบดำเนินการและรีบถอนตัวออกจากสถานที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ประกอบกับตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวไว้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุที่มีการเผาทำลายเพิงพักอยู่ห่างไกลทางชุมชน การที่จะให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายอุปกรณ์ที่รื้อถอนแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มาเก็บไว้ที่ทำการ อช. เพื่อรอให้เจ้าของที่แท้จริงมารับ เป็นการกระทำที่เกินกว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติได้ ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายจึงเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่กรณีแล้ว

นอกจากนั้นการดำเนินโครงการยุทธการตะนาวศรี ก็เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตพื้นที่ อช. ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในหลายหลายครั้งรวมถึงครั้งพิพาทเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ต่างก็เข้าเสี่ยงภัยไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ และดูแลรักษาผืนป่า อช. ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทยและยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี ให้มีความอุดมสมบูรณ์และคงอยู่ในสภาพเดิมต่อไปไม่ให้ถูกทำลาย

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดและความเป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องด้วยแล้ว จึงสมควรให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบร้อยละ 30 ของจำนวนส่วนแห่งความรับผิดในร้อยละ 50 คิดเป็นจำนวนเงิน 45,148.05 บาท

โดยหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวเพียงสั้นๆว่า ขอบคุณที่ศาลเมตตา เพราะที่ผ่านมาตนก็ทำงานอย่างเต็มที่

คลิปอีจันแนะนำ
{“src”: “77bfe5f0-9db0-4dcd-9dd1-362450344a1e”}