ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ชัด ร้อยเอกธรรมนัส ยังคงความเป็น รัฐมนตรี และ สส.

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ชัด ร้อยเอกธรรมนัส ไม่มีลักษณะต้องห้าม ยังคงความเป็น รัฐมนตรี และ สส.

ภายหลังเกาะติด Live ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำตัดสิน กรณีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกไว้ว่า “มันคือแป้ง” โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนุญ ระบุชัดว่า

“ร้อยเอกธรรมนัสไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98(10) จึงไม่มีเหตุ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรี และความเป็น สส. สิ้นสุดลง”

โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (5 พฤษภาคม 2564) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) และความเป็นรัฐมนตรีของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(10) หรือไม่?

ซึ่งใจความบางช่วงของการอ่านคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

“การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ การตีความให้คำพิพากษาของต่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการ การแทรกแซงระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลรัฐใด ก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ซึ่งในบางกรณี รัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีในคดีแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก

สำหรับคดีอาญา อาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้าง ในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญา ว่า รัฐภาคีต้องผูกพันธ์ และจัดที่จะเคารพตามผลของคำพิพากษาของรัฐอีกภาคีหนึ่งด้วย ดังนั้นทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการ จะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้น เท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

การตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดการกระทำที่เป็นความผิด องค์ประกอบความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิด แต่กฎหมายของไทยอาจไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้

อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน

กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ซึ่งโดยสรุปใจความสำคัญง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วว่า คำพิพากษาในคดีของศาลต่างประเทศ ไม่อาจนำมาบังคับกับระเบียบเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไทย⁣ ⁣ จึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98(10) ไม่มีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรี และความเป็น สส. สิ้นสุดลง

ทั้งนี้คำวินิจฉัยดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจาก ส.ส. 51 ราย ได้เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะทางการเมืองของ ร้อยเอกธรรมนัส จากกรณีเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุด ว่าได้กระทำผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติดในประเทศออสเตรเลีย⁣

อีจันเชื่อเหลือเกินว่า เพื่อนๆ หลายคนหลังจากติดตามการ Live หรือ อ่านข่าวจบมาถึงบรรทัดนี้ คงมีความรู้สึกที่หลากหลายอัดแน่นอยู่เหมือนกันแน่ๆ แต่ไม่ว่ายังไง จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ก็ยังต้องสู้กันต่อไปนะคะ #เราจะผ่านได้ด้วยกัน