สดร.คาด เสียงปริศนาดังสนั่นฟ้า ที่ชาวเหนือได้ยิน คือ ดาวตกชนิดระเบิด

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยถึง แสงวาบสีเขียว พร้อมเสียงที่เกิดขึ้น คาดเป็น ดาวตกชนิดระเบิด เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตื่นตระหนก

กรณีที่เกิดเรื่องฮือฮาเมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา มีชาวบ้าน ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังสนั่นท้องฟ้า และมีผู้เล่าว่า เห็นดวงไฟสีเขียวฟ้า ตกลงมาจากฟ้า นั้น

เสียงปริศนาดังสนั่นท้องฟ้า เชียงใหม่ – ลำพูน แถมมีแสงสีเขียวพุ่งมาด้วย ด้าน สดร. เร่งตรวจสอบ

ล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ว่า จากเหตุดังกล่าว ทางสถาบัน ไม่พบรายงานความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จากหลักฐานที่รวบรวมได้ เช่น ข้อมูลการโพสต์จากหลายแหล่ง และภาพถ่าย เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจาก ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า จากหลักฐานภาพ และคลิปจากการโพสต์โดยคุณอาลิสา เซยะ ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) โดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศจะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่า เห็นแสงวาบก่อนที่จะได้ยินเสียงตามมา ซึ่งระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น

แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า วัตถุดังกล่าวนั้น จะตกลงมาถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมานั้นจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอจนตกลงมาถึงพื้นโลกได้นั้น มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6,000 ดวงในทุกๆ ปี แต่ส่วนมากนั้นตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น มีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า

“ในแต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อย กม. ในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก”