สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ถูกตัดงบ อาหารสัตว์ 60% ทำไมจึงเกิดวิกฤตนี้?

กระทบหนัก! สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ถูกหั่นงบ ล่าสุด บริษัทเอกชนเข้าช่วยเหลือลงนามดูแลด้าน อาหารสัตว์ป่า แล้ว

ปัญหา สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่ถูกตัดลดงบประมาณ โดย นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เคยเปิดเผยผ่านรายการ “SEUB TALK” เอาไว้ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกตัดลดงบประมาณ ปีละหลายร้อยล้านบาท โดยปี 2562 งบประมาณของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ที่ 11,858 ล้านบาท แต่ในปี 2565 อยู่ 9,971 ล้านบาท 

แต่ในส่วนของงบประมาณ ที่ไม่ได้ถูกตัดลด คือ เงินเดือนของข้าราชการ ส่วนงบลงทุนโครงการต่างๆ ถูกตัดลดเพียงเล็กน้อย และเมื่อดูในส่วนของงบดำเนินการและงบลงทุนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จะพบว่า ได้รับผลกระทบอย่างมาก

นายศศิน กล่าวเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่า ในส่วนของอุทยานฯ นั้น ดูแลในส่วนของผู้พิทักษ์ป่า แต่ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าโดยตรง อธิบายง่ายๆ คือ ดูแลป่า 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นพื้นที่ป่าที่รองลงมา แต่ก็เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ

พื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะถูกตัดงบเกี่ยวกับการจัดจ้างผู้พิทักษ์ป่ามากกว่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพราะว่าอุทยานแห่งชาติ มีเงินช่วยเหลือจากเงินงบประมาณจากเงินรายได้เข้าอุทยานฯ

แต่พวกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มันไม่ใช่ที่ท่องเที่ยว อย่างพื้นที่ที่เราทำงานเยอะๆ อย่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไม่มีที่ท่องเที่ยว คนที่ไปก็เข้าไปดูสัตว์ป่า เข้าไปเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มีน้ำตก ไม่มีจุดชมวิว พวกนี้ก็เก็บเงินรายได้ไม่ค่อยได้ ซึ่งงบของผู้พิทักษ์ป่าจะไม่โดนลดมาก

แต่พอมาดูจริงๆ ตัวที่กระเทือนจริงๆ องค์ประกอบของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า งานหลักๆคือดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่เล็กลงมา แล้วก็มีสัตว์ป่าชนิดที่จำเพาะ ส่วนอีกงบหนึ่งก็คือต้องดูแล สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่า รวมไปถึง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า

ซึ่งสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าก็ดูแลหน่วยงานภาคสนามอยู่ 4-5 ตัว

นอกจากนี้ นายศศิน ยังระบุด้วยว่า ในตอนนี้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เข้าสู่วิกฤตวิกฤตที่ถึงขั้นจะไม่มีการซื้ออาหารให้เสือที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากิน

จะไม่มีอาหารซื้อให้ลิงเป็นร้อยๆ ตัวกิน จะไม่มีเงินซื้ออาหารให้กวาง ให้สัตว์กีบที่เพาะพันธุ์ เพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติกิน

คำถามคือ ทำไมจึงเกิดวิกฤตขนาดนี้?

นายศศิน เผยว่า ต้องดูงบดำเนินการและงบลงทุนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ในภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรฯ หรือของกรมอุทยาน ไม่กระเทือน แต่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะได้งบประมาณ 10-20% ของทั้งกรม

ซึ่งถ้าดูตามกราฟสีส้ม จะเห็นว่า งบดำเนินการเมื่อปี 2562 ได้ถึง 700 กว่าล้านบาท แต่พอปี 2565 ลดลงมา 241 ล้านบาท

ซึ่งงบที่ลดลง กระทบงานดูแลสัตว์ป่า ยกตัวอย่างเช่น เคสช้างป่าเกเร ที่จะย้ายไปไว้ในศูนย์กักกัน รถที่มีประสิทธิภาพมาตรฐาน ในการเคลื่อนย้ายก็เพิ่งได้รับอนุมัติ และยังไม่ได้รถคันดังกล่าวจริง

ส่วนงบที่จะทำเพนียด รั้วกันช้าง ขุดคูกันช้าง หรือการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสัตว์ป่า ก็ได้รับผลกระทบ

สัตว์ป่าต้องกินอาหาร แล้วตอนนี้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ถูกตัดงบลดถึง 60%
นายศศิน กล่าว

ทั้งนี้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ ก็มีหน้าที่เพาะพันธุ์สัตว์ป่า ที่สำคัญต่อระบบนิเวศ รวมถึงเลี้ยงดูสัตว์ของกลางไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งสัตว์ป่าต้องกินอาหาร รักษาโรค รวมถึงได้รับการดูแลสวัสดิภาพ ให้อยู่ในมาตรฐาน ซึ่งรวมไปถึงการดูแลสัตว์จากต่างประเทศที่ถูกปล่อย และสัตว์ป่าพิการ ที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้

จากปัญหาดังกล่าว ล่าสุด (23 ก.พ. 65) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบดูแลสัตว์ป่าพ่อแม่พันธุ์ สัตว์ป่าของกลาง และสัตว์ป่าจากกรณีแก้ไขปัญหา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

ในขณะที่งบประมาณในการดูแลมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการด้านอาหารและสวัสดิภาพสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการจัดการด้านอื่นๆ

ซึ่งในขณะนี้ ทางกรมอุทยานฯ ได้มีการลงนามกับบริษัท สยามแม็คโคร ในส่วนของความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า โดยนำอาหารที่เหลือจากการขาย เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด ส่งต่อให้หน่วยงานภาคสนามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง

คลิปแนะนำอีจัน
รักข้ามรุ่น นายเเน่มาก