ส.ส.ก้าวไกล เสนอ 3 แผนบูรณาการ ใช้งบปี65 อย่างโปร่งใส!

ส.ส.ก้าวไกล ฟาด งบปี 65 ต้อง เหมาะสม เปิดเผย อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าเอา สถาบันกษัตริย์ มาเป็นเกราะกำบัง เลี่ยง การตรวจสอบจาก สภา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันที่ 1 มิ.ย. 64 กับการพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565” วาระรับหลักการ วันที่ 2

โดยนางเบญจา เเสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปราย ในการประชุมครั้งนี้ว่า

ภาพรวมของงบประมาณปี 2565 นั้น ถูกจัดสรรลดลงในขณะที่ประเทศไทยและสังคมโลกกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก แล้วเรากำลังต้องก้าวไปสู่โลกหลังวิกฤติโควิด ที่ทั้งในประเทศและทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจกระทบกับปากท้องของพี่น้องประชาชน และ งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่นำไปหล่อเลี้ยงประเทศนี้มาจากประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น งบประมาณที่เหลืออยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเครื่องมือที่รัฐต้องนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและต้องถูกนำไปใช้เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ใช้เป็นงบประมาณสำหรับการเยียวยาชดเชยให้กับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในวาระนี้จึงขอเสนอการจัดสรรงบประมาณแผนบูรณาการแบบใหม่ เพื่อจัดระเบียบโครงสร้างงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสามารถจัดลำดับความสำคัญโครงการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึงการกำหนดวงเงินของหน่วยงานรับงบประมาณต่างๆ ที่ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 นี้มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่อย่างน้อย 33,712 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการตามที่แสดงชื่อโครงการที่เกี่ยวข้องในเอกสารงบประมาณ ยังไม่ได้รวมงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจไปรวมอยู่ในหมวดหมู่ของโครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือไม่ได้รวมงบประมาณในหมวดอื่นๆ อีก

ในจำนวน 33,000 กว่าล้านที่ได้กล่าวไปแล้ว ได้แบ่งงบประมาณออกเป็น 5 ประเภท

1.งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 629 ล้านบาท

ยกตัวอย่างเช่น โครงการรวมใจเทิดไทสถาบันพระมหากษัตริย์ ของกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

2.งบถวายความปลอดภัย จำนวน 6,938 ล้านบาท

เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ภายใต้ผลผลิตการถวายความปลอดภัยด้านการบินและการบริหารจัดการด้านความมั่นคงของรัฐบาล ของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

3.งบส่วนราชการในพระองค์จำนวน 8,761 ล้านบาท

4.งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระปณิธานเป็นงบที่เกี่ยวกับโครงการหลวงต่างๆ จำนวนเงิน คือ 15,203 ล้านบาท

5.งบอื่นๆ เช่น พระราชทานเพลิงศพงบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวน 2,179 ล้านบาท

ซึ่งเงินจำนวน 30,000 กว่าล้านนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นก็คือแต่ละโครงการ ควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่งบประมาณถูกปรับลด ประชาชนทั้งประเทศต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากแค้น สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว

ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณหรือจัดงบประมาณซ้ำซ้อน การจัดสรรงบเช่นนี้ จะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อปีงบประมาณ 2564 งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยรับงบ ที่มีการตั้งงบประมาณที่มีความซ้ำซ้อนเข้ามา โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวงต่างๆ ที่ใช้เงินมากกว่า 15,000 ล้านบาท ที่มีมากกว่า 50 โครงการ ผ่านหน่วยรับงบ 30 กรม และอีก 7,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระจายใน 7 แผนงาน

แต่หลายครั้งโครงการเหล่านี้ ได้รับมาเมื่อหลาย 10 ปีก่อน จึงอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาใหม่หรือไม่ ว่าพื้นที่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากน้อยเพียงใด

หน่วยงานรับงบยังหน่วยงานราชการบางหน่วยกลับพยายามพกผลักดัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยไม่ได้ทำการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาพปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ นี่ไม่ใช่การกล่าวหาแต่มีเอกสารหลักฐาน

ตัวอย่าง โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ที่คณะกรรมาธิการงบประมาณเมื่อปีที่แล้ว เสนอให้ตัดงบประมาณ นี่เป็นเอกสารที่กรมชลประทานเร่งรีบจัดทำขึ้น เพื่อผลักดันการสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว แต่ปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดในเอกสารบางอย่าง ความผิดพลาดนั้นก็คือการที่กรมชลประทานจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง แต่มีการคัดลอกเอารายงานของ จ.เพชรบูรณ์ มาเปลี่ยนชื่อเป็น จ.พัทลุง แล้วลืมแก้ไขข้อมูลพื้นฐานสำคัญอย่างลักษณะทางภูมิศาสตร์และพืชเศรษฐกิจหลัก จนถูกประชาชนจับผิดได้ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะอ้างว่านี้เป็นรายงานฉบับเก่า แต่จะฉบับเก่าหรือว่าจะฉบับใหม่ ก็ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญ แต่ละสาระสำคัญมันก็คือการจัดทำรายงานที่เป็นเท็จ ซึ่งการเอาข้อมูลเป็นเท็จมาใช้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแอบอ้างเช่นนี้เป็นการเหมาะสมแล้วหรือไม่และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของสถาบัน เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานเจ้าภาพอย่างเช่น กองทัพอากาศ ขอจัดสรรงบประมาณโครงการอนุรักษ์พันธ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชชัดสุดา สยามบรมราชกุมารรี หรือกองทัพเรือ ที่ขอจัดสรรโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา หรือแม้แต่กองบัญชาการกองทัพไทยที่ขอจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำตามแนวพระราชดำริเข้ามา

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ไม่สมเหตุสมผลในการจัดทำงบประมาณไม่ตรงกับพันธกิจและภารกิจหลักของหน่วยงาน และไม่ตอบโจทย์ต่อความเดือดร้อนของประชาชน

ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งแผนบูรณาการใหม่ แยกเป็นแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ โดยให้สำนักงาน กปร.เป็นแม่งานในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงทั้งหมด

โดยมีข้อเสนออยู่ 3 ประการ

1.เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน คำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยงานรับงบประมาณ คำนึงถึงความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ปล่อยให้หลายหน่วยงานเข้ามารุมทำแค่เพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง ที่อาจจะไม่ใช่พันธกิจและภารกิจหลักของหน่วยงานนั้นๆ

2.เพื่อให้สำนักงาน กปร.สามารถจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของแต่ละโครงการได้ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณที่ครอบคลุมควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวน เพื่อชะลอปรับลดหรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็นไปแล้ว โดยทั้งหมดนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

3.เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อสภาผู้แทนราษฎรในการที่จะตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้กลุ่มบุคคลแอบอ้างนำเอาสถาบัน มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอจัดสรรและเป็นเกราะกำบัง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ซึ่งจะส่งผลให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศของพระองค์

การรวมงบประมาณเข้าด้วยกันเป็นแผนบูรณาการ จะทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันได้อย่างถูกต้อง และไม่ทำให้เกิดข่าวลือผิดๆ ที่อาจทำให้พระเกียรติยศของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้รับความเสียหายไปด้วย

สุดท้าย ขอฝากถึงหน่วยงานรับงบประมาณทุกหน่วยที่เข้ามาชี้แจงงบในวาระสอง ว่าขออย่าให้ท่านนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีงบประมาณนี้หน่วยรับงบอย่างส่วนราชการในพระองค์จะส่งตัวแทนมาร่วมชี้แจงงบประมาณต่อกรรมาธิการในการพิจารณางบประมาณ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนพิจารณางบประมาณ

“ยืนยันว่าข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นที่ดิฉันและพรรคก้าวไกลเสนอ ไม่ได้เกินเลยไปกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบัญญัติที่ต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เสนอกลับเป็นข้อเสนอที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสถาพร ในรัชสมัยใหม่ โดยไม่ถูกนำมาใช้แอบอ้างให้เสื่อมเสียพระเกียรติ” เบญจา เเสงจันทร์ สส.ก้าวไกล กล่าว