สาธารณสุขหลายประเทศต่างเฝ้าติดตาม การแพร่ระบาด ผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง

สาธารณสุขในหลายประเทศต่างเฝ้าระวังติดตาม การแพร่ระบาด ในผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง อย่างใกล้ชิด

สำนักงานสาธารณสุขโปรตุเกส (DGS) รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดจากสัตว์สู่คน จำนวน 5 ราย มาร์การิดา ทาวาเรส ผู้อำนวยการโครงการการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวีแห่งชาติ สังกัดสำนักงานฯ แถลงว่าโปรตุเกสเผชิญ “การแพร่ระบาด” ของโรคฝีดาษลิงแล้ว เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น “มากกว่าที่คาดการณ์ไว้” โดยผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลล้วนเป็นเพศชายที่อาศัยอยู่ในกรุงลิสบอนและภูมิภาคเทกัสวัลเลย์ ซึ่งถูกตรวจพบเชื้อที่คลินิกรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของโปรตุเกสยอมรับว่ายังไม่ทราบต้นตอของการติดเชื้อ และยังไม่ทราบว่าผู้ติดเชื้อแต่ละรายมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ทาวาเรสยืนยันว่านับเป็นครั้งแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในโปรตุเกส และสำนักงานฯ กำลัง “เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากผู้ติดเชื้อกลุ่มข้างต้นถูกตรวจพบเมื่อไม่นานนี้”

ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น โปรตุเกส รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวจากโรงพยาบาลว่ากำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโรคฝีดาษลิงอีก 20 ราย ซึ่งโรคฝีดาษลิงเป็นโรคหายากที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง โดยเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวในสหราชอาณาจักรจำนวน 2 ราย

เมื่อวันพุธ 18 พ.ค. ทางการสาธารณสุขรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (monkeypox) รายแรกของประเทศในปี 2022 เป็นเพศชายมีประวัติเดินทางเยือนแคนาดา แต่ผู้ติดเชื้อรายนี้ “ยังไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสาธารณชน”

ทั้งนี้ทางการระบุว่าได้มีการทดสอบเบื้องต้นไปก่อนที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) จะยืนยันพบการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 พ.ค. โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ฯ กำลังทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขแมสซาชูเซตส์เพื่อสอบสวนผู้ติดเชื้อรายนี้

ศูนย์ฯ กำลังเฝ้าติดตามการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงแบบกลุ่มก้อนหลายกลุ่มที่ถูกตรวจพบในหลายประเทศช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงโปรตุเกส สเปน และสหราชอาณาจักร พร้อมเรียกร้องผู้ให้บริการดูแลสุขภาพเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการสอดคล้องกับโรคฝีดาษลิง ไม่ว่าพวกเขาจะมีประวัติการเดินทางบางอย่างหรือมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะสำหรับโรคดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม

อีกทั้งองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคเกิดจากสัตว์ในป่า (sylvatic zoonosis) ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ และมักเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของแอฟริกากลางและตะวันตก โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงซึ่งจัดอยู่ในสกุลออร์โทพ็อกซ์ไวรัส (orthopoxvirus)

คลิปแนะนำอีจัน
“ทำกับแม่หนูได้ยังไง” กระบะหัวร้อน บีบแตร ด่ากราด