สุดล้ำ มข. ผลิตชุดจ่ายอากาศบริสุทธิ์ PAPR ให้ทีมแพทย์ ขณะรักษาผู้ป่วยโควิด

คณะวิทย์ฯ-แพทย์ มข. สุดล้ำ ผลิตชุดจ่ายอากาศบริสุทธิ์ PAPR ให้ทีมแพทย์ ขณะรักษาผู้ป่วยโควิด

สุดล้ำ!!! มข. ทำชุด PAPR อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ ให้บุคคลากรทางการแพทย์ ขณะทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

วานนี้ 29 เม.ย.2564 ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทำการทดสอบอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ หรือ (PAPR) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 ( หอพัก 26 มข.) ซึ่งผลิตล็อตแรกจำนวน 10 ชุด โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มข. ทำการวิจัยและประดิษฐ์ขึ้น

รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. เผยว่า การปฏิบัติงานในปัจจุบันของบุคลากรทางการแพทย์ ชุด PPE เป็นชุดที่สามารถกรองเชื้อได้ แต่จะต้องสวมใส่หน้ากาก N95 เพิ่มเข้าไป ทำให้ลำบากต่อการหายใจ เหตุนี้ทีมงานวิจัยจึง ได้ร่วมกันวิจัยและผลิตชุดดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นชุดที่จ่ายอากาศบริสุทธิ์ และสามารถกรองเชื้อมากกว่า 96%

โดยลักษณะของชุด PAPR เป็นหมวกแรงดันบวก ซึ่งผ้าที่ใช้เป็นผ้าร่มกันน้ำกันลม เพื่อให้ภายในสามารถจ่ายลมแรงดันบวกจากด้านหลังได้ และออกแบบท่อให้นำอากาศมาด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการหายใจ และยังมีฟิลเตอร์ที่สามารถกรองไวรัสได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในห้องที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์หรือในห้องติดเชื้อผู้ที่สวมใส่จะหายใจได้สะดวกโดยไม่ต้องใส่หน้ากาก N95 แต่สามารถสวมหน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์แบบปกติได้

นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า กรณีที่มีโรคระบาดที่เราไม่มั่นใจว่าจะแพร่กระจายทางระบบทางเดินหายใจ ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่จะต้องคิดเสมอว่าน่าจะเป็นโรคที่แพร่กระจายทางเดินหายใจ ดังนั้นผลงานวิจัยที่ร่วมกันคิดค้นขึ้นชุดนี้จึงมีความสำคัญในทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ในยุคที่เจอมาไม่ว่าจะเป็น H5n1 ,H1n1 ,ซ่าร์ส จนกระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

” โดยเฉลี่ย 10 ปี จะเจอโรคแบบนี้สักครั้ง ซึ่งชุดนี้จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นชุดที่มีความปลอดภัยสูงสุด และทำให้ดูแลคนไข้ได้มากกว่าชุด PPE โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรกลุ่มอื่นที่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องที่ผู้ป่วย เช่น เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค ที่เข้าไปเอ็กซ์เรย์ปอดคนไข้ หรือแม้กระทั่งแม่บ้านที่เข้าไปเก็บขยะ เป็นต้น

ถือเป็นอีกครึ่งผลงานที่ช่วยให้ทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์สะดวกในการทำงาน และปลอดภัยมากขึ้น ขอชื่นชมทีมวิจัย มข. มากๆ เลยค่ะ