อลังการ แห่หุ่นเซียงยืน 200 ตัว บุญผะเหวด หนึ่งเดียวในไทย ที่ ขอนแก่น

ชาวตำบลบ้านค้อ ขอนแก่น นำหุ่นเซียงยืน 200 ตัว ร่วมขบวนแห่อัญเชิญ พระเวสสันดร เข้าเมืองในงาน บุญผะเหวด เทศกาลหุ่นเซียงยืน แห่งเดียวในประเทศไทย

วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่บริเวณถนนบ้านหนองปอ ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ชาวตำบลบ้านค้อ จัดขบวนแห่ผะเหวด ซึ่งเป็นบุญเดือนสี่ของชาวอีสานที่จัดขึ้นทุกปี แต่ชาวบ้านค้อทำแตกต่างจากที่อื่นๆ คือมีหุ่น ชื่อว่าหุ่นเซียงยืน ที่มาจากฝีมือชาวบ้าน 20 หมู่บ้าน กว่า 200 ตัว ร่วมในขบวนแห่ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวบ้าน และผู้ที่สัญจรผ่านไปมาอย่างมาก เพราะเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ร่วมขบวนแห่ในปีนี้เป็นปีแรก และถือว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย

โดยมีนางธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญมหาชาติ (บุญผะเหวด) เทศกาลหุ่นเซียงยืน และปล่อยขบวนแห่ไปยัง วัดโพธิ์ศรี วัดประจำตำบล เพื่อประกอบกิจกรรมตามประเพณีบุญผะเหวด โดยมีผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยขอนแก่น , สมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น เขต2 , ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยชาวบ้านตำบลบ้านค้อร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น

ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย พิธีอัญเชิญพระอุปคุต อัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งศิลปินแห่งชาติ 2 ท่านได้แก่ ป.ฉลาดน้อยและฉวีวรรณดำเนิน โดยขบวนแห่หุ่นเซียงยืน 201 หุ่นจากฝีมือชาวบ้าน 20 หมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสานจัดทำหมู่บ้านละ 10 หุ่นรวม 200 ตัวและยังมีหุ่นที่ใหญ่ที่สุดสูงประมาเกือบ 10 เมตร อีก 1 หุ่น ที่สร้างจากจินตนาการที่แตกต่างกัน พร้อมขบวนแห่ผ้าผะเหวดที่บอกเล่าเรื่องราความเป็นมาของพระเวสสันดรชาดก โดยมีขบวนกลองวชิระชัย ขบวนฟ้อนรำ ร่วมในขบวน

นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา การฟังเทศน์และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ มีชาวบ้าน 20 หมู่บ้านร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น ภายใต้การป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 อย่างเคร่งครัด

นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ เล่าว่า ประเพณีบุญมหาชาติ หรือ บุญผะเหวด เป็นประเพณีบุญประจำปีในฮีตสิบสองที่ชาวตำบลบ้านค้อ ธำรงสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ตามคติความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องราวพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว จะได้เกิด ร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย เกิดความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวอยู่เย็นเป็นสุขภายในชุมชน ซึ่งในปีนี้ในการจัดงานบุญผะเหวดของตำบลบ้านค้อ ได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมหุ่นเซียงยืนที่หายไปจากชุมชนเป็นเวลานาน ซึ่งหุ่นเซียงยืน เป็นการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านและบุคคลสำคัญในท้องถิ่นผ่านจิตนาการออกมาเป็นหุ่นลักษณะคล้ายคน

โดยการรื้อฟื้นการนำหุ่นเซียงยืนมาร่วมในขบวนแห่ เพื่อที่จะสืบทอดและส่งต่อวิถีชีวิตจาก คนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ รวมทั้งแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชน เป็นกลยุทธ์ที่สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมสู่ลูกหลานได้เป็นอย่างดี