อ.เจษฎ์ เตือน! อย่าหลงเชื่อโฆษณา สายรัดประหยัดน้ำมัน

อ.เจษฎ์ เตือนอย่าหลงเชื่อ สายรัดประหยัดน้ำมัน โฆษณาเกินจริง ชี้ เป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลก

โซเชียลแห่จับผิด สินค้าที่กำลังมีการโปรโมทมาแรง เคลมว่าช่วยประหยัดน้ำมัน อย่าง “สายรัดประหยัดน้ำมัน” ว่าช่วยได้จริงเป็นเพยีงสินค้าลวงโลก!

ซึ่ง อ.เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นนี้ผ่าน เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ด้วย

ระบุว่า “เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน

ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริง ด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วตามด้วยการอ้าง ผู้ใช้ มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้น อย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)

1. อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น

– อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง “เหรียญควอนตัม” หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้

– อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)

– อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่วๆ ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมันหรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)

– จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา ผู้ใช้ มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ

3. ในอดีตนานแล้ว (ปี พ.ศ. 2547) ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ชื่อว่า E-Plus (เสียดายว่าหารูปประกอบไม่เจอแล้ว) ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดโปงพิสูจน์ได้ภายหลังว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง

– เรื่องย่อๆ คือ ในปีนั้น มีการเปิดตัวอุปกรณ์ชื่อ อี – พลัส (E–PLUS) โดยหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ อย่าง วว. ซึ่งอ้างว่าเป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันได้ ด้วยฝีมือนักวิจัยคนไทย ทำให้มียอดจองกว่า 2 หมื่นเครื่อง ในเวลาเพียงเดือนเศษ

– แต่ไม่นาน คุณ กร ทัพพะรังสี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น ได้ออกมาสั่งเบรกการติดตั้งอุปกรณ์อี – พลัส ให้กับลูกค้า เพราะยังไม่มีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานกลาง

– พร้อมกันนั้น ประธานคณะกรรมการของ วว. ก็ออกมาแถลงว่า บอร์ด วว. พิจารณาแล้ว เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บอร์ดจึงให้มีมติให้กลับไปวิจัยทดสอบใหม่ และให้หยุดกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเอาไว้

– หลังจากนั้น ทางนิตยสาร “ฟอร์มูล่า” นิตยสารรถยนต์ชื่อดัง ได้นำอุปกรณ์ “อี-พลัส” มาทดสอบติดตั้งในรถยนต์ และวิ่งบนแท่นวัดกำลังเครื่อง หรือไดนาโม มิเตอร์ เพื่อวัดสมรรถนะว่าจะสามารถเพิ่มกำลังและแรงบิด ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่

– ผลทดสอบปรากฏว่า ทั้งกำลังและแรงบิด ไม่เพิ่มขึ้นเลย เมื่อเทียบกับก่อนการติดตั้ง ทำให้ที่อ้างว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยเพิ่มได้ถึง 5 % นั้น ไม่เป็นความจริง!

– แล้ว “ฟอร์มูล่า” ก็ทำการทดสอบหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ โดยวัดระยะทางที่รถวิ่งได้ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ทั้งแบบวิ่งบนถนนใช้งานจริง และวิ่งบนแท่นไดนาโมมิเตอร์ รวมกับคณะวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยรังสิต

– ผลการทดสอบ จากวิ่งบนถนนสภาพการใช้งานจริง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 2.9 %

– ผลการทดสอบบนไดนาโมมิเตอร์ เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 0.17 %

– จากการทดสอบทั้งเรื่องของการเพิ่มกำลัง และลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง จากการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน หรืออี-พลัส จึงฟันธง! ได้เลยว่า เป็นการโกหกระดับชาติกันเลยทีเดียว!!

– รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ในเวลานั้น จึงสั่งให้ระงับการผลิตและยุติการขาย ส่วน ผู้ว่าการ วว. ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

4. คำแนะนำสำหรับ #การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน จาก ปตท. ครับ (https://www.thansettakij.com/pr-news/general-news/520027)

1. ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน : การเหยียบเบรกกะทันหัน หรือบ่อยเกินความจำเป็น จะสิ้นเปลืองน้ำมันสูงถึง 40% และยังส่งผลเสียต่อตัวเครื่องยนต์อีกด้วย

2. ขับรถด้วยความเร็วคงที่ ไม่ช้าเกินไป หรือเร็วมากเกิน : รักษาความเร็วให้คงที่ หรือใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอกัน 60 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้รถประหยัดน้ำมัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายบนท้องถนนด้วย

3. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามระยะทาง : การตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำตามคำแนะนำของศูนย์บริการ จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 3 – 9% เลยทีเดียว

4. บรรทุกของเท่าที่จำเป็น : ยิ่งบรรทุกของมาก ยิ่งทำให้รถต้องใช้พละกำลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นไปด้วย ยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น

5. จัดของที่จะบรรทุก บนรถกระบะ : จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ก็ไม่ควรจะขับรถเร็ว ควรวิ่งชิดเลนซ้าย ใช้ความเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 80 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 15 – 20 % เลยทีเดียว

คลิปอีจัน แนะนำ