เชียร์หลีดดิ้ง กับ คนหูหนวก คว้าแชมป์ 3 ปีซ้อน!

เชียร์หลีดดิ้ง กับ คนหูหนวก ความสำเร็จที่ต้องมุ่งมั่น และใช้ความพยายามอย่างที่สุด คว้าแชมป์ 3 ปีซ้อน!

วันนี้อีจันอยากนำเรื่องราวของพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “อีจัน” มาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง เพื่อส่งต่อความมุ่งมั่นและกำลังใจในการลงมือทำอะไรสักอย่าง จนเรารู้ซึ่งถึงคำว่า “ภูมิใจ” และ “ความสำเร็จ”

พี่นาตาเลีย หรือเฮีย เพิ่งเข้ามาทำงานกับอีจันได้ไม่นาน แต่เต็มไปด้วยแรงมุ่งมั่น ความท้าทาย และกระหายต่อความสำเร็จ ไม่ว่างานที่เฮียได้รับนั้นจะยากแค่ไหน แต่เฮียก็สู้สุดใจไม่เคยท้อ! ลองมาอ่านเรื่องเล่าความสำเร็จของเฮียกันค่ะ

เชียร์หลีดดิ้ง…หูหนวก!

การแข่งขันเชียร์ลีดดิ้ง การเคลื่อนไหวที่ต้องเป็นไปตามจังหวะเสียงเพลงและดนตรี สำหรับคนปกติก็ว่ายากแล้ว แต่…สำหรับคนที่ หูหนวก ไม่ยินเสียงเหล่านั้นยากยิ่งกว่า แต่ทว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงมุ่งมั่นและกำลังใจ ทำให้พวกเขาร่วมกันฟันฝ่า จนในที่สุด ก็ได้รับความสำเร็จเป็นรางวัลตอบแทน!

เฮียเล่าว่า ความสำเร็จนี้ เริ่มมาจากตอนที่เฮียยังเป็นนักศึกษา และเป็นเชียร์หลีดเดอร์อยู่ในชมรมเชียร์ ของ ม.รังสิต ในปี 2552 อาจารย์ที่ดูแลชมรมเชียร์ อยากจัดแข่งขันการเชียร์ จึงมีการเสนอโปรเจกต์ว่า “เรามาลองทำเชียร์หลีดดิ้งสำหรับคนพิการทางการได้ยินกันมั้ย”

เฮียจึงได้รับมอบหมายให้ฝึกซ้อมผู้พิการเหล่านี้ ครั้งแรกของการเปิดเชียร์คนพิการ เฮียมีเวลาฝึกซ้อมกับกลุ่มคนเหล่านี้เพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น นี่ความท้าทายแรกที่เฮียต้องเจอ และนี่คือครั้งแรกที่มีเชียร์หลีดดิ้งเป็นคนหูหนวก

แต่…เชื่อมั้ยคะ วันที่เชียร์หลีดดิ้งกลุ่มนี้ขึ้นโชว์ มันพิเศษ และทำให้ทุกคนที่มาร่วมชม รวมถึงพ่อแม่ของพวกเขา มองข้ามความพิการเหล่านั้นไป เห็นเพียงศักยภาพที่มีอยู่ของคนบนเวที

เมื่อครั้งแรกมันปังงงง โปรเจกต์จึงต้องดำเนินต่อไป เฮียเล่าว่า เคยไปโชว์การแสดงที่ญี่ปุ่นด้วย และกระแสตอบรับดีมาก เมื่อเริ่มมีการตอบรับ จึงเริ่มมีหลายที่ หลายกลุ่ม ปั้นเชียร์หลีดดิ้งหูหนวกขึ้นมา เพื่อโชว์ศักยภาพบนเวทีของการแข่งขัน

เมื่อปี 2556 ทีมเชียรืของเฮียต้องขึ้นทำการแข่งขัน แต่ก่อนวันแข่งเพียง 1 วัน เฮียโดนปล้น!

ใช่ค่ะ โดนปล้น ตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง คือการเชียร์นั้นจบไปแล้ว สิ่งที่เฮียเสียดายและเสียใจที่สุดในวันนั้น ไม่ใช่ของที่โดนปล้นไป

แต่…เป็นเพราะ ช่วงการแข่งขัน ทีมเชียร์ต้องเขว เพราะไม่มีเฮียคอยยืนอยู่เบื้องหน้าเพื่อให้สัญญาณจังหวะของดนตรี

อีจันถามเฮียว่า หูไม่ได้ยิน แล้วเต้นยังไง รู้ได้ยังไงว่า ดนตรีช่วงนี้ต้องเต้นท่านี้?

เฮียตอบ ทุกคนต้องมานั่งทำความตกลงกันว่า สัญญาณการนับจากจังหวะ เราจะนับแบบนี้นะ ส่วนชื่อท่าเวลาจะเปลี่ยน จะมีสัญลักษณ์แต่ละท่ากำกับไว้ ซึ่งทุกคนต้องทำความเข้าใจและจดจำสัญลักษณ์นั้นไปพร้อมๆกัน

หลายครั้ง มีคนท้อ เหนื่อย หมดกำลังใจ แต่มีเก่าออกไป ก็มีคนใหม่เข้ามา เฮียจึงอยากสานต่อความมุ่งมั่นของกลุ่มคนเหล่านี้ต่อไป จนกว่าเฮียจะหมดแรง

และแล้วทุกสิ่งอย่างที่ร่วมกันทำมา ก็มาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ในปี 2564 โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย และชนะการแข่งขัน 3 ปีซ้อน (2562-2564) การแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564 (The 17th Thailand National Cheerleading Championships 2021) ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต

ถ้วยรางวัลพระราชทานนี้ ต้องทำการแข่งขันและเป็นแชมป์ 3 ปีซ้อน ถึงจะได้ถ้วยรางวัลมาครอง!

เฮียเล่าทั้งน้ำตา ด้วยความตื้นตันใจ 13 ปี กับการสอนเชียร์ที่หูไม่ได้ยิน เหนื่อย แต่ไม่ท้อ เพราะเชื่อในศักยภาพที่เขามี ไม่เคยมองว่าเขา คือ คนพิการ และจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่มีแรงทำอีกแล้ว

เรื่องเล่าความสำเร็จ…จากเฮียอีจัน

เป็นไงกันบ้างคะ มีใครอ่านเรื่องราวนี้จนถึงบรรทัดสุดท้ายมั้ยเอ่ย จันนำเรื่องนี้มาเขียนเล่าหวังให้ทุกคนที่ได้อ่านที่กำลังท้อ หรือหมดกำลังใจ ได้ฮึดสู้และลุกมาลุยต่อกับความฝันที่ลงมือทำแต่มันยังไม่สำเร็จ ดึงพลังดึงศักยภาพในตัวออกมาค่ะ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้ให้โชคชะตา แต่เราเกิดมาเพื่อสู้ให้โชคชะตารู้ว่า ความสำเร็จของฉัน…ฉันจะกำหนดมันเอง!

คลิปแนะนำอีจัน
ขับรถเล่น อช.แก่งกระจาน เจอเสือดำ อวดโฉม