เสียงสะท้อนจากนักข่าว ในวันที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย น้ำท่วม

เสียงของความเดือดร้อน ที่ไปไม่ถึงหน่วยงาน? ในวันที่นักข่าว ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย น้ำท่วม

“บ้านพี่ที่สระบุรีน้ำท่วมสูงมาก เกือบ 2 เมตร ชั้นล่างนี่จมมิดเลยน้อง” นี่คือคำพูดของพี่กฤต นักข่าวอีจันในพื้นที่ จ.สระบุรี

หลังเราทราบว่า มวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วม 11 อำเภอ ของ จ.สระบุรี เราโทรหาพี่กฤตเพื่อถามสถานการณ์ เพราะจะส่งทีมลงไปช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อน

แต่กลายเป็นว่า พี่กฤต นักข่าวในพื้นที่ของเรา ต้องเจอวิกฤตน้ำท่วมบ้านเช่นกัน

ไม่รอช้า เพราะเราคือ #ครอบครัวอีจัน ทีมส่วนกลางจัดทีม ปลายทางคือ สระบุรี

วันที่เราไปถึง น้ำกำลังท่วมสูง โดยเฉพาะในชุมชนตลาดใหม่ท่าลาน บ้านพี่กฤต อยู่ที่นี่ค่ะ แต่พี่กฤตบอกให้เราช่วยชาวบ้านคนอื่นก่อน ไม่ต้องห่วงเขา

ขนาดตัวเองก็เดือดร้อน แต่พี่กฤตก็ยังเป็นห่วงเพื่อนบ้าน แถมยังเป็นคนคอยประสานเรือ ประสานงานช่วยเหลือคนในชุมชนด้วย #ใจโคตรหล่อเลยพี่

โอเค งั้นช่วยชาวบ้านก่อนแล้วกัน…

ช่วยชาวบ้านอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะในชุมชนบางบ้านก็มีสัตว์เลี้ยง จะช่วยก็ต้องช่วยทั้งหมด ช่วยให้สุดทาง

ลงเรือชาวบ้าน เอาอาหารคน อาหารหมา แมว แจกตามบ้าน จนครบ

พี่กฤต คือคนสุดท้าย ที่เราช่วย…

น้ำมาวันไหนพี่กฤต? เราถาม

“ก่อนหน้านี้พี่ก็ลงพื้นที่ไปทำข่าวน้ำท่วมตามปกติ แต่พอวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา มวลน้ำก็เริ่มเข้าท่วมชุมชน ในจังหวัดสระบุรี ตอนนั้นเราก็กำลังรถอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง พอสักพักเราก็รู้ว่า น้ำมาถึงชุมชนที่บ้านพี่อยู่แล้วนะ อ้าววว บ้านเราก็โดนน้ำท่วมเหมือนกัน

ช่วงเช้า น้ำสูงเพียง 50 เซนติเมตร แต่พอเข้าช่วงเย็น น้ำเพิ่มสูงมาเป็น 1 เมตร จากนั่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 2 เมตร มิดอกพี่เลย ก็กลายเป็นว่าบ้านที่เราใช้หลับนอน ถูกน้ำท่วมจนอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายขึ้นมาอยู่บนชั้น 2 เพราะชั้น 1 จมมิด เลยกลายเป็นว่า นักข่าวก็เป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน” พี่กฤต บอกกับเรา

น้ำมาเร็วมาไหม?

วันแรก ก็ประเมินว่าระดับน้ำจะสูงแค่ไหน แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าที่คาดการณ์ไว้มันผิดคาด คือที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็ไม่คิดว่าน้ำมันจะมามาก แล้วก็มาเร็วขนาดนี้

ระหว่างที่พายเรือดูความเดือดร้อน และพูดคุยกับพี่กฤต ก็ถึงบ้านพี่กฤตพอดี พี่กฤตชี้บ้านตัวเองที่เปิดเป็นร้านเสริมสวยให้ดู

สภาพบ้านของพี่กฤต ชั้น 1 จมบาดาล ข้าวของลอยน้ำเต็มไปหมด เราขอพี่กฤตเข้าไปดูว่าข้างในเสียหายขนาดไหน

เก้าอี้ โต๊ะ ข้าวเครื่องใช้ ที่แฟนพี่กฤตใช้ในการเปิดร้านเสริมสวย ลอยเต็มทั่วบริเวณชั้น 1 เพราะเป็นของชิ้นใหญ่ แบกหนีไม่ได้ ก็ต้องจำใจปล่อยแบบนี้

ส่วนน้ำที่ท่วมก็เริ่มมีกลิ่น เพราะน้ำยังไม่สามารถระบายออกได้ เลยท่วมขังอยู่อย่างนั้น

เกิดคำถาม บ้านตัวเองก็น้ำท่วม แต่พี่กฤตก็ยังออกไปทำข่าวให้กับเพจอีจัน เหมือนปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น…

“ก็ไม่ทิ้งหน้าที่ของเรา เราเป็นนักข่าว ก็ทำข่าวน้ำท่วมบ้านเราด้วย ทำข่าวน้ำท่วมบ้านชาวบ้านในพื้นที่สระบุรีด้วย”

ตอนแรกที่น้ำท่วมใหม่ๆ ตนก็ยังอยู่ชั้น 2 ของบ้านได้ แต่พอช่วงหลังๆ น้ำเริ่มมีกลิ่น เลยต้องไปขออาศัยบ้านน้องสาวแฟนอยู่ชั่วคราว จนกว่าน้ำจะลด

น้ำท่วม จนท. ตัดไฟไหม?

พี่กฤต บอกว่า ตัดแค่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนยังมีกระแสไฟอยู่

อ้อ!!! พี่กฤตเสริมด้วยนะว่า น้ำท่วมครั้งนี้ก็เกือบๆ ปี 2554 เลย เพราะปี 2554 สระบุรี ถูกน้ำท่วมหนักมาก แต่ตรงนี้มันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่ความเสียหาย ความเดือดร้อน เพราะความเสียหายความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้นก็ไม่ได้ต่างกันเลย ไม่ว่าจะปี 2564 หรือปี 2554

“จากปี 2554 ผ่านมา 10 ปีตอนนี้ 2564 แล้ว ก็ไม่รู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าชาวสระบุรีต้องเจอกับน้ำท่วมแบบนี้อีกไหม”

ความช่วยเหลือล่ะ มีหน่วยงานเข้ามาดูแล ช่วยเหลือไหม

ความช่วยเหลือของหน่วยงาน ตนขออธิบายว่า ส่วนใหญ่เข้ามาในลักษณะความช่วยเหลือที่อยู่ด้านนอก แต่ด้านในก็จะมีเรือเข้ามาแจกบ้าง แต่ถามว่าพอเพียงไหม ก็ต้องตอบว่าไม่พอหรอก เพราะการช่วยเหลือมันมีหลายที่ ก็เลยเหมือนต้องกระจายไป พอหน่วยงานกระจายไปหลายที่ ก็อาจจะทำให้หลงลืมพื้นที่ตรงนี้

ในฐานะที่พี่กฤต ก็เป็นคนทำงาน แล้วยังเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมเองอีกด้วย ถ้าหากมองในมุมของคนที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เดือดร้อน เราอยากได้รับการช่วยเหลืออะไรจากหน่วยงานในพื้นที่

“ความช่วยเหลือจริงๆ แล้วก่อนน้ำจะท่วม มันน่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้า ผู้บริหารหรือหน่วยงานต่างๆ เขาย่อมรู้ แต่ความช่วยเหลือในบางครั้ง มันอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นอันนี้ตอบไม่ได้ แต่อยากให้หันมาให้ความสนใจความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ถุงยังชีพที่มีมาม่า 1 ห่อ หรือปลากระป๋อง มันไม่สามารถชดเชยจิตใจที่เขาไม่มาสนใจเรา ไม่มาดูแล ไม่มาช่วยเหลือเรื่องความเดือดร้อนของเรา ตรงนี้มันชดเชยกันยาก

น้ำท่วมเอาสิ่งของมาให้ น้ำท่วมเอาถุงยังชีพมาให้ แต่เราอยากถามกลับว่า จิตใจของคนที่เขาต้องเป็นผู้ประสบภัย เขาอยากจะให้หน่วยงานมองถึงจิตใจของผู้ประสบภัยมากกว่า เพราะสิ่งของมันไม่สามารถที่จะชดเชยความเสียหายได้ มาถามสักนิดหนึ่งว่า เป็นอยู่ยังไง ต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม”

อีกหนึ่งความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม คือ “ห้องน้ำ” นั่นเองค่ะ

หากบ้านไหนถูกน้ำท่วมแล้วห้องน้ำมีเพียงแค่ชั้นเดียวคือชั้นที่ 1 ไม่ได้มีห้องน้ำอยู่บนชั้น 2 เขาก็จะเดือดร้อนกันมากๆ ไม่มีที่ให้ขับถ่าย

ในส่วนของตรงนี้พี่กฤตบอกว่า อยากให้ท้องถิ่น เข้ามาดูแลในเรื่องของห้องน้ำให้กับชาวบ้าน

พี่กฤต ขอพูดแทนชาวบ้านทุกๆ คน ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย หรือเสียงขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน ดังไม่พอ?

“ตอนน้ำท่วมปี 2554 เป็นบทเรียน อุปกรณ์ ตอนนั้นที่จัดซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ เรือ หรือสิ่งจำเป็น ในครั้งนั้น ถามว่าปัจจุบัน ของทั้งหมดนี้หายไปไหน ห้องน้ำที่เคยใช้ เคยมาบริการประชาชนที่ประสบอุทกภัย ตอนนี้อยู่ไหน หายไปไหน ทำไมไม่มีการเก็บรักษา เรือที่เคยใช้ปี 2554 หายไปไหน ห้องน้ำสาธารณะอยู่ไหน อันนี้คือคำถามที่ตนในฐานะที่เป็นผู้สื่อข่าว มองว่าทำไมจะต้องให้ชาวบ้านมาร้องขอ

หน่วยงานควรที่จะจัดสรรสิ่งที่จำเป็นมาให้กับชาวบ้าน ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าเมื่อน้ำท่วมอะไรคือสิ่งที่จำเป็น อย่าให้ชาวบ้านเขาต้องร้องขอ เพราะจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานจะต้องจัดมาโดยอัตโนมัติ ปี 2554 ก็มีบทเรียนมาแล้วจนมาปีนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม

ส่วนการให้กำลังใจ อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์ใด แต่อย่างน้อยขอให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้มันเป็นอุทาหรณ์สำหรับตัวเรา แล้วก็ช่วยเหลือตัวเองมากกว่า เพราะเหตุการณ์มันไม่สามารถมีการคาดเดาได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ อยากบอกกับคนที่ประสบอุทกภัยเหมือนกับตนว่า อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งอ่อนแอ ขอให้พยายามที่จะประคองดำเนินชีวิตต่อไป อย่างน้อยก็ขอให้ทุกคนมีรอยยิ้มให้กับเพื่อนบ้านที่กำลังพายเรือ หรือต้องเดินฝ่าน้ำระดับคอ ยิ้มให้กันในวันที่ต้องเจอกับวิกฤตที่ซัดเข้ามา

ฟังจากที่พี่กฤตเล่าแล้ว เราก็ได้แต่มีความหวังว่า เมื่อน้ำลดแล้ว จะมีหน่วยงานเข้ามาดูแล เข้ามาช่วยเหลือ เข้ามาเยียวยาชาวบ้าน อย่าให้เสียงของความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไปไม่ถึงหน่วยงานเลยค่ะ…

#น้ำท่วมสระบุรี

#เป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวสระบุรี

คลิปแนะนำอีจัน
เสียงขอความช่วยเหลือ…ที่ดังไม่พอ?